
ขวดน้ำพลาสติก นำกลับมาใช้ใหม่ เสี่ยงมะเร็งหรือไม่?
หลังจากซื้อน้ำดื่มกันเป็นขวดๆ ไม่ว่าจะเป็นขวดเล็ก หรือขวดใหญ่ คนบางส่วน (รวมถึงเราด้วย) ก็มักจะนำขวดกลับมาใช้ใหม่ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า รียูส (reuse ไม่ใช่ recycle นะ อันนั้นต้องเอาไปผ่านกระบวนการแยกส่วน หลอมรวม จนออกมาเป็นสินค้าใหม่เอี่ยม) แต่ขวดพลาสติกใส่น้ำเหล่านี้สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่อย่างปลอดภัยหรือไม่ แล้วสามารถใช้ได้ต่อไปอีกนานแค่ไหน เรามาศึกษารายละเอียดกันค่ะ
ขวดน้ำพลาสติก เป็นพลาสติกประเภทไหน?
หลายคนทราบกันดีว่าพลาสติกมีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับการใช้พลาสติกสำหรับสินค้าประเภทไหน สำหรับขวดน้ำพลาสติกเป็นพลาสติกประเภท polyethylene terephthalate หรือที่เราเรียกกันติดปากสั้นๆ ว่า ขวด PET เป็นพลาสติกใสใช้บรรจุน้ำดื่ม น้ำอัดลม เครื่องดื่ม น้ำผลไม้ น้ำยาซักผ้า น้ำยาทำความสะอาด และ อาหารบางชนิด
ขวดน้ำพลาสติก นำกลับมาใช้ใหม่ อันตรายหรือไม่?
นายประกาย บริบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แม้ขวดน้ำดื่ม น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้จะมีความคงทนแข็งแรงกว่าขวดพลาสติกประเภทอื่นๆ แต่การนำกลับมาล้างใช้ใหม่ต้องระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล้างทำความสะอาดขวด PET ที่มีรูปทรงหรือร่องที่เป็นลวดลายสวยงามของขวด ที่ทำความสะอาดยากและไม่สะอาดพอจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอย่างดี ถ้าสังเกตว่าขวดน้ำที่ผ่านการล้างและใช้ซ้ำนานๆ มีรอยร้าว บุบ แตก มีสีที่เปลี่ยนไป ขุ่นหรือมีคราบเหลืองให้ทิ้งทันที
นอกจากนี้หากเก็บพลาสติกชนิดนี้ไว้ในที่ที่ไม่เหมาะสม ก็สามารถเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะเมื่อขวดน้ำพลาสติก ถูกแสงแดดหรือความร้อนเป็นเวลานาน ทำให้สารเคมีบนขวดพลาสติกสลายตัว ละลายปนในน้ำดื่ม หรือหากวางน้ำดื่มไว้ใกล้สารเคมี วัตถุอันตราย หรือผงซักฟอก ก็จะส่งผลให้น้ำในขวดพลาสติกดูดกลิ่นสารเคมีเข้าไปได้ ทำให้มีกลิ่นไม่ชวนดื่ม และมีโอกาสที่สารนั้นอาจปนเปื้อนสู่น้ำดื่ม ซึ่งเราก็จะได้รับสารเคมีนั้นไปด้วย
ขวดน้ำพลาสติก นำกลับมาใช้ใหม่ เสี่ยงมะเร็งหรือไม่?
อันตรายจากสารเคมี ซึ่งอ้างว่าเป็นสารก่อมะเร็งนั้นไม่มีการยืนยันที่แน่ชัด มีการศึกษาถึงสารเคมีต่างๆ ที่อาจละลายออกมาจากขวด PET ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ พบว่าไม่เกินค่าที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานสากล และค่อนข้างเป็นที่ยอมรับว่าขวดน้ำพลาสติกสามารถนำมาใช้บรรจุซ้ำได้อย่างปลอดภัยจากสารเคมี (หากดูแลทำความสะอาดได้ดีพอ และเก็บรักษาอย่างเหมาะสม)
ใช้ขวดน้ำพลาสติกซ้ำอย่างไร ให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ