เนื้อหาในหมวด การเงิน

SCB WEALTH มองภาษีทรัมป์ ฉุด GDP โลกโตเหลือ 2.2% แนะพักหุ้น ถือตราสารหนี้-ทองคำ

SCB WEALTH มองภาษีทรัมป์ ฉุด GDP โลกโตเหลือ 2.2% แนะพักหุ้น ถือตราสารหนี้-ทองคำ

SCB WEALTH มองทั่วโลกรับผลกระทบกำแพงภาษีทรัมป์ถ้วนหน้า กดดัน GDP โลกโตเหลือ 2.2% ส่วนไทยโต 1.4-1.5% แนะลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น-กลาง กองทุนผสม และทองคำ เลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยงชั่วคราว

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค SCBEIC เปิดเผยว่า การประกาศขึ้นกำแพงภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก โดย SCB EIC ได้ปรับลดประมาณการ GDP โลก ปีนี้เหลือเติบโต 2.2% จากเดือน มี.ค.ที่ประเมินไว้ว่าจะเติบโต 2.4% ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโต 1.3% ลดลงจากเดือน มี.ค. ที่คาดการณ์ไว้ 1.9% สำหรับเศรษฐกิจไทยปีนี้ เดิมคาดว่าจะเติบโต 2.4% ประเมินเบื้องต้นคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตลดลงเหลือราว 1.4-1.5% (SCB EIC อยู่ระหว่างการปรับประมาณการใหม่) เพราะนอกจากถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าขั้นต่ำกับทุกประเทศ 10% แล้ว ไทยยังจะถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีศุลกากรตอบโต้กับประเทศที่มีความไม่เป็นธรรมทางการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มอีก จนเพดานภาษีที่จะเก็บไทยสูงสุดที่ 36% สูงกว่าค่าเฉลี่ยการถูกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มของทั้งโลก อยู่ที่ 16% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยอาเซียน อยู่ที่ 33%

ส่วนทิศทางนโยบายการเงิน คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสจะปรับลดดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปีนี้ไปอยู่ที่ 1.25% ณ สิ้นปี จากเดิมที่มองอีกแค่ 2 ครั้ง ตามทิศทางเศรษฐกิจไทยที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ เราอยู่ในเกมที่ทุกประเทศถูกเก็บภาษีไม่เท่ากัน โดยที่ประเทศอื่นส่วนใหญ่ถูกเก็บภาษีน้อยกว่าเรา ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคากับสินค้าประเทศอื่นที่ถูกกว่า ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัวทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การกระจายตลาดส่งออก การบริหารความเสี่ยงเพื่อรับมือความไม่แน่นอน และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ขณะที่บริบทของภาครัฐก็มีความสำคัญในด้านการเจรจาการค้า เตรียมแผนลดผลกระทบภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ในระยะสั้น และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส SCB Financial Markets ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษี เงินดอลลาร์สหรัฐไม่ได้แข็งค่าอย่างที่เคยคาดไว้ แต่ค่าเงินกลับอ่อนลง ด้านสกุลเงินหลักอื่น ๆ ในโลก เช่น เงินยูโร เงินเยน และเงินฟรังก์สวิส แข็งค่าขึ้น เนื่องจากรับหน้าที่เป็นสกุลเงินปลอดภัย (Safe haven currency) ส่วนสกุลเงินในเอเชียอ่อนค่าลง จากการที่นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่น โดยค่าเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค เนื่องจากไทยเผชิญผลกระทบ 2 เรื่องซ้อนกัน คือผลกระทบจากแผ่นดินไหว และผลกระทบจากการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าของทรัมป์ อีกทั้ง ไทยพึ่งพาการค้ากับสหรัฐฯ และจีนสูง นักลงทุนจึงสูญเสียความเชื่อมั่นค่อนข้างมาก

สำหรับค่าเงินบาทในระยะสั้น คาดว่า อาจจะอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 34.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่ยอมให้เงินอ่อนค่าเพื่อรองรับผลกระทบจากกำแพงภาษีของทรัมป์ และเงินบาทอาจอ่อนค่าตามแนวโน้มเงินหยวน สำหรับในระยะกลางถึงยาว แนวโน้มเงินบาทจะขึ้นอยู่กับการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ โดยในกรณีที่ไทยไม่สามารถตกลงกับสหรัฐฯ เพื่อให้ลดภาษีลงได้ภายใน ก.ค. อาจทำให้ความเชื่อมั่นลดลง ในช่วงครึ่งปีหลัง กดดันบาทอ่อนค่าเร็วต่อได้ในกรอบ 35.50-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี หากไทยสามารถเจรจาได้ และสหรัฐฯ ยอมลดภาษีลงบางส่วน ทั้งต่อไทยและประเทศอื่น ๆ ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและ Global capital flows ไม่รุนแรง ก็อาจทำให้เงินบาททรงตัวหรือกลับมาแข็งค่าเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลังในกรอบ 34.00-35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายสิทธิชัย ดวงรัตนฉายา หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า หากนับตั้งแต่ต้นปี 2568 ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ให้ผลตอบแทนต่ำสุดอันดับต้นๆ ของโลก แต่หากนับตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีศุลกากร ตลาดหุ้นไทย ปรับลดลงน้อยกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาค โดยเราคาดว่า ตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบทางตรงไม่มาก โดยหากรายได้จากสหรัฐฯ ลดลง 10% จะกระทบกำไรบริษัทจดทะเบียน 2% แต่หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง ก็สามารถชดเชยผลกระทบนี้ได้แล้ว ส่วนที่กระทบตลาดหุ้นไทยมากคือ ผลกระทบทางอ้อมที่มาจากเศรษฐกิจ โดยหาก GDP ของไทยลดลง 0.5% จะทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียนลดลง 6% หาก GDP ไทย ลดลง 3% จะทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียนลดลงเกือบ 30% จึงต้องขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจว่าได้รับผลกระทบมากน้อยอย่างไร ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นไทยเวลานี้ เรามองว่า ควรเน้นคัดเลือกหุ้นของบริษัทที่เน้นตลาดในประเทศมากๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากความต้องการในประเทศ และราคาพลังงานที่ลดลง

นางสาวเกษรี อายุตตะกะ ผู้อำนวยการ Investment Research SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า SCB CIO ประเมินผลกระทบจากภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ เป็น 2 กรณี โดยกรณีแรก Base case มีความเป็นไปได้ 80% ประเทศต่างๆ จะเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ ได้ โดยใช้เวลาไม่นานนัก ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นชั่วคราว ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น ส่วน กรณีที่ 2 Worst case มีความเป็นไปได้เพียง 20% คือ การเจรจายืดเยื้อมากกว่า 6 เดือน มีการตอบโต้รุนแรงจากจีนและประเทศอื่นๆ เช่น ยุโรป รวมถึงประธานาธิบดีทรัมป์ อาจประกาศมาตรการทางภาษีใหม่ๆ ที่รุนแรงเพิ่มเติม จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อสูง (Stagflation) หรือเกิดภาวะถดถอย (Recession) ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯและตลาดหุ้นโลก เป็นขาลงในระยะยาว ทั้งนี้ เรามองว่า มีโอกาสเกิดกรณี Base case มากกว่า จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงช่วงนี้ จนกว่าสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ส่งผลให้ความผันผวนปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ยังสามารถลงทุนได้ในตราสารหนี้ ที่มี Duration ระยะสั้นและระยะกลาง กองทุนผสมที่มีผู้จัดการกองทุนดูแลปรับสัดส่วนการลงทุนให้ในพอร์ตหลัก และ ทองคำ

นายชาตรี โรจนอาภา หัวหน้าทีมที่ปรึกษาการลงทุน SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในภาวะที่ตลาดการเงินกำลังมีความผันผวนสูง นักลงทุนควรใจเย็น ติดตามสถานการณ์ก่อน กรณีความเป็นไปได้ของการเจรจาระหว่างทรัมป์ และประเทศต่างๆ ออกมาเป็น Base case ตามที่ SCB CIO ประเมิน นักลงทุนที่มีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ ควรรอดูสถานการณ์ก่อน (Wait and See) เมื่อตลาดเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว อาจกลับเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นที่ปรับลดลงไปมาก จากการได้รับผลกระทบด้านกำแพงภาษีของทรัมป์ เช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ตลาดหุ้นเวียดนาม ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ และตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตาม หากเหตุการณ์พัฒนาจนกลายเป็น Worse case ซึ่งมีโอกาสเกิดน้อย แต่หากเกิดขึ้นจริง อาจจำเป็นต้องขายลดน้ำหนักสินทรัพย์เสี่ยงโดยรวมในพอร์ตลงทุน ส่วนนักลงทุนที่ยังไม่ได้มีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเลย สามารถทยอยลงทุนได้ หลังจากที่สถานการณ์เริ่มมีความชัดเจนแล้ว

ในส่วนของสินทรัพย์ที่เสี่ยงไม่สูงอย่าง ตราสารหนี้ สามารถลงทุนได้เลย เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ดังนั้น การลงทุนตราสารหนี้ในช่วงเวลานี้ จะช่วยให้ผู้ลงทุนยังมีโอกาสรับผลตอบแทนในระดับสูงอยู่ ก่อนที่ดอกเบี้ยจะปรับลดลง โดยอาจเลือกตราสารหนี้ระยะสั้นและกลางเป็นหลัก ขณะที่ ทองคำ เป็นสินทรัพย์อีกประเภทที่น่าสนใจ เพราะธนาคารกลางประเทศต่างๆ มีแนวโน้มสะสมทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น โดยการปรับฐานของราคาทองคำในช่วงนี้ อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนทองคำในระยะยาว

SCB WEALTH ผนึก BlackRock เสริมแกร่งการลงทุนไทยสู่เวทีโลก

SCB WEALTH ผนึก BlackRock เสริมแกร่งการลงทุนไทยสู่เวทีโลก

SCB WEALTH จับมือ BlackRock เสริมแกร่งการลงทุนมุ่งสู่ระดับโลก ยกระดับธุรกิจเวลธ์ในทุกมิติเน้นโอกาสเพิ่มความมั่งคั่งระยะยาวให้ลูกค้า