ม.อ. ร่วมกับ สยามดีแอพ เปิดตัว PSU E-Document ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมรัฐบาลดิจิทัล
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ บริษัท สยามดีแอพ (ประเทศไทย) จำกัด “เปิดตัว PSU E-Document ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์” มาตรฐาน ISO 29110 เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ชูจุดเด่น สะดวก ง่าย รวดเร็ว ลดการสูญหายข้อมูล ลดต้นทุนองค์กร พร้อมระบบคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ สอดรับนโยบาย ESG สร้างความยั่งยืน มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายหน่วยงานท้องถิ่น เล็งขยายสู่หน่วยงานภาครัฐ ส่งเสริมรัฐบาลดิจิทัล
นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า ในนามของ depa ขอแสดงความยินดีกับ PSU E-Document ที่สามารถพัฒนาโครงการจนสามารถเปิดให้บริการแก่ผู้ใช้งานได้ โดย PSU E-Document ได้รับมาตรฐาน ISO 29110 และได้รับการรับรองขึ้นจดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ให้เป็นบัญชีดิจิทัล ซึ่งจะเพิ่มความน่าเชื่อถือ เป็นประโยชน์กับการจัดซื้อจัดจ้าง และสามารถการันตีคุณภาพได้
"depa ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน ในการทำงานเชิงดิจิทัลอย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัท สยามดีแอพ (ประเทศไทย) ได้พัฒนาระบบตามมาตรฐานที่ depa วางไว้ และได้นำมาใช้ประโยชน์ ขยายผลสู่หน่วยงานและภาคองค์กรอื่นๆต่อไป" นายพรชัย กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงนามสัญญาความร่วมมือกับ บริษัท สยามดีแอพ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัว PSU E-Document ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นระบบที่รองรับการลงลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์เบ็ดเสร็จในตัว โดยที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือ หรือ Software อื่นๆ
"PSU E-Document เป็นผลงานการคิดค้นและพัฒนา โดยทีมงานที่มีประสบการณ์และความเข้าใจในเนื้องานของการทำเอกสารและสารบรรณโดยตรงกว่า 15 ปี ตัวระบบเป็น Workflow ช่วยในกระบวนการจัดการงานเอกสาร รวมถึงการอนุมัติเอกสารต่างๆ ภายในบริษัท ทำให้องค์กรสามารถทำงานได้อย่างมีระเบียบแบบแผน เป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น ลดขั้นตอนหรือเวลาการทำงานที่ไม่จำเป็นออกไป"
"อีกทั้งลักษณะการทำงานแบบ Free flow มีความยืดหยุ่นสามารถปรับใช้ได้กับทุกขนาดองค์กร ครอบคลุมกระบวนการทำงานขององค์กรทั้งหมด ตั้งแต่การนำเอกสารเข้า การลงทะเบียนรับ การเสนอเอกสาร การพิจารณา การลงนามเอกสารด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การสั่งการเอกสาร และการส่งเอกสารไปยังหน่วยงานหรือบุคลากร รวมทั้งการจัดเก็บเอกสารแบบออนไลน์ 100% เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ช่วยให้รวดเร็ว ลดการสูญหายของข้อมูล โดยเป็นไปตามกฎหมาย และกฎระเบียบพระราชบัญญัติอิเล็กทรอนิกส์"
"นอกจากนี้ระบบดังกล่าว พัฒนาตอบสนองนโยบาย ESG โดยมี Dashboard แสดงปริมาณข้อมูลการใช้งานทั้งหมด ซึ่งสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่าย คำนวณปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้ผู้ใช้ติดตามนำไปวิเคราะห์ต่อได้ ตอบโจทย์องค์กรที่มีแนวคิดสร้างความยั่งยืน" ผศ. ดร.นิวัติ กล่าว
ทั้งนี้ PSU E-Document ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ Thailand ICT Awards (TICTA) 2023 หมวด Public Sector and Government (Digital Government) และได้รับมาตรฐาน ISO 29110 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่มุ่งเน้นให้การรับรองคุณภาพการบริหารงานหรือผลิตภัณฑ์ ช่วยในการปรับปรุงสมรรถนะองค์กร ทำให้มีการบริหารจัดการคุณภาพและบริการที่มีประสิทธิภาพและมีศักยภาพในการเติบโตทางธุรกิจขององค์กร
ดร.นที เทพโภชน์ ประธานกรรมการ บริษัท สยามดีแอพ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการ ด้านคำปรึกษา, ออกแบบ, พัฒนาระบบ หรือพัฒนาโปรแกรม เปิดเผยว่า "สยามดีแอพ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความเชื่อมั่นและให้ความไว้วางใจในการร่วมพัฒนา PSU E-Document ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานดังกล่าวเพื่อการขยายผลเชิงพานิชย์ สามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้งานแต่ละองค์กรได้ โดยบริษัทวางแผนการดำเนินงานทางการตลาด ในการให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายเริ่มต้นจากหน่วยงานบริหารงานท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชนต่อไป"
"บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการทำงานร่วมกับภาครัฐ จึงสามารถเข้าใจกระบวนการ และการดำเนินงาน รวมไปถึงการติดตั้งระบบให้ถูกต้อง ใช้งานได้ง่าย สนับสนุนให้รัฐบาลนำเทคโนโลยีที่เหมาะสม ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อพัฒนาองค์กรให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล" ดร.นที กล่าว
ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ที่ปรึกษาโครงการ PSU E-Document กล่าวว่า "นับเป็นเรื่องน่ายินดี ที่มีทางเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเช่นนี้ในตลาดเพิ่มเติม โดย PSU E-Document มีการทำงานและกระบวนการที่สอดคล้องตามหลักกฎหมายดิจิทัลต่าง ๆ ในกลุ่มของระบบงานอิเล็กทรอนิกส์และรัฐบาลดิจิทัล อีกทั้งสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ การคุ้มครองและการรักษาความปลอดภัยข้อมูล ทำให้ผู้ใช้และหน่วยงานภาครัฐเกิดความมั่นใจและถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ส่วนตัวผมเองรู้สึกยินดีที่มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสำเร็จก้าวแรกที่สำคัญยิ่งนี้"