รู้จัก “กระดาษจากมูลช้าง” ที่ใช้งานได้จริง ต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้
เมื่อถามถึงประโยชน์ของ “มูลช้าง” หลายคนคงนึกถึงการนำไปทำปุ๋ยเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตามทุกคนทราบหรือไหมว่า นอกจากจะนำไปทำปุ๋ยได้แล้ว ยังสามารถเปลี่ยนมูลช้างที่หน้าตาไม่น่าดู ให้เป็นกระดาษจดลายน่ารักๆ ที่ไม่ได้แค่หน้าตาน่ารักเฉย ๆ แต่ยังใช้ได้จริงด้วยนะ ไม่เพียงเท่านั้น “มูลช้าง” ที่เรารู้จักยังสามารถนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น พร้อมทั้งอนุรักษ์ช้างอีกด้วย
วันนี้จึงพาทุกคนมารู้จัก “กระดาษจากมูลช้าง” ผ่านการพูดคุยกับ “โบตั๋น กนกรัตน์” ผู้ร่วมก่อตั้ง Elephant PooPooPaper ผลิตภัณฑ์กระดาษจากมูลช้าง ที่ต่อยอดไปถึงการสร้างศูนย์เรียนรู้
Elephant PooPooPaper ต่างจากกระดาษสาทั่วไปอย่างไร
จะต่างกันที่ “เนื้อกระดาษ” แม้ว่าจะมีส่วนประกอบของมูลช้างที่ส่วนใหญ่เป็นหญ้า มีความสาก แต่กระดาษสาของโบตั๋นสามารถใช้งานได้จริง คือ สามามารถใช้ปากกา ดินสอ เขียนลงไปได้จริง นอกจากนั้นยังใส่เรื่องราวเกี่ยวกับช้างลงไปในบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้าง story ให้กับสินค้า
จากความชอบในเครื่องเขียน สู่กระดาษมูลช้างที่ใช้งานได้จริง
สำหรับที่มาของ ‘กระดาษมูลช้าง’ โบตั๋น เล่าว่าเริ่มมาจากความชอบในเครื่องเขียนส่วนตัว จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เธอเริ่มทำแบรนด์กระดาษคราฟท์
“เราเป็นคนที่รักเครื่องเขียน เวลาไปเที่ยวที่ไหน ไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศจะต้องแวะร้านเครื่องเขียนทุกครั้ง”
เดิมทีเธอทำงานด้านการจัดหาสินค้าไทยให้กับลูกค้าต่างประเทศ ที่ต้องการนำเข้าไปจำหน่ายในประเทศของตัวเอง สินค้าส่วนใหญ่มักเป็นของที่ค่อนข้างจะพิเศษและมีเอกลักษณ์ให้คนนึกถึงประเทศไทย หรือไม่ก็จังหวัดที่เป็นผู้ผลิตสินค้านั้นๆ
จนวันหนึ่งเธอได้รับโจทย์จากลูกค้าว่าต้องการกระดาษที่มีความ “พิเศษ” กว่ากระดาษทั่วไป เธอใช้เวลาตามหาอยู่สักพัก จนไปพบกับศูนย์อนุรักษ์ช้างที่ลำปาง ซึ่งมีผลิตภัณฑ์จากมูลช้างจำหน่าย หนึ่งในนั้นคือ กระดาษสา ซึ่งจำหน่ายในรูปของฝากชนิดกระดาษสวยงามสำหรับสะสม
“เราไปเจอกระดาษสา ที่เขาเอามูลช้างมาทำความสะอาดแล้วใช้เป็นส่วนประกอบเพื่อทำกระดาษสา ตอนนั้นรู้สึกว่ามันพิเศษมากเลยนะ เราส่งต่อให้ลูกค้าเขาก็แฮปปี้ เพราะมันพิเศษตรงโจทย์ที่เขาอยากได้ แต่สำหรับพี่ อยากให้มันเป็นกระดาษที่มากกว่าของฝาก อยากให้มันใช้ได้จริงๆ ไม่ต้องถึงขนาดกระดาษจด แต่เอาไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ตามโอกาสต่างๆ”
ไอเดียตั้งต้นของเธอถูกนำมาทำให้กลายเป็นจริงอีกครั้ง เมื่อโบตั๋นต้องการสร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมา ด้วยการนำความชอบส่วนตัวที่รักในเครื่องเขียน และสินค้าท้องถิ่นที่เธอสนใจอย่างกระดาษมูลช้าง นำมาต่อยอดด้วยการพัฒนาคุณภาพกระดาษและใส่เรื่องราวความยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับท้องถิ่นลงไป ภายใต้ชื่อ “Elephant PooPooPaper”
“ในช่วงแรกลูกค้าให้การตอบรับดีมาก เพราะสินค้าเราใช่แค่ของฝากที่ซื้อไปแล้วเอาไปตั้งโชว์ แต่มันใช้งานได้ ยิ่งเราใส่เรื่องราวว่าเป็นการนำมูลช้างมาใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ยังไง ลูกค้าก็จะยิ่งตื่นเต้น กระดาษแผ่นนี้นี่นะ ทำมาจากอึช้างขี้ช้าง บางคนก็ลองเอามาดมก็มี”
การขายสินค้าช่วงแรกเป็นไปในรูปแบบการฝากวางจำหน่ายตามสถานที่ท่องเที่ยว เน้นกลุ่มลูกค้าต่างประเทศที่ชื่นชอบงานฝีมือเป็นหลัก เธอเสริมต่อว่าแม้กระดาษมูลช้างจะใช้งานได้จริง แต่เราไม่มีทางทำกระดาษให้เรียบเนียนเท่ากระดาษให้ระบบอุตสาหกรรมเครื่องเขียน เราจึงต้องวางตำแหน่งของตัวเองไว้เป็นสินค้างานฝีมือ แต่ยังใช้งานได้จริง
จากกระดาษคราฟท์สู่ศูนย์การเรียนรู้ผ่านมูลช้าง
หลังแบรนด์กระดาษได้รับการตอบรับดี เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว แต่เธอยังคิดต่อว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถเจอผู้บริโภคได้โดยตรง และให้ลูกค้ารู้จักสินค้าของเธอจริงๆ ว่าไม่ใช่แค่กระดาษ แต่ยังมีเรื่องราวของการอนุรักษ์ช้างแฝงอยู่ในนั้น จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับการทำกระดาษจากมูลช้าง ในชื่อ Elephant PooPooPaper Park ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่ติดกับศูนย์อนุรักษ์ช้าง เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่รัก และชื่นชอบกิจกรรมเกี่ยวกับช้าง เข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างสะดวก
“Elephant PooPooPaper Park เสมือนกับว่าเราเอาวิธีการทำกระดาษมูลช้างมาลงรายละเอียดให้ลูกค้าเห็นในทุกขั้นตอน ตั้งแต่มูลช้างก้อนที่ทำความสะอาดแล้ว นำมาละลาย ผสมกับเยื่อกระดาษ ใช้สีธรรมชาติ คลี่ลงบนตะแกรง ตาก กลายเป็นกระดาษมูลช้างเฉพาะตัวของแต่ละคน ตั้งแต่เปิดมา ลูกค้าให้การตอบรับดีมาก เพราะเป็นกิจกรรมครอบครัวที่ทำได้ทุกช่วงวัย โรงเรียนหลายแห่งก็พาเด็กๆ มาทำกิจกรรม”
นอกจากศูนย์การเรียนรู้แล้ว โบตั๋นยังต่อยอดธุรกิจกับชุมชน ผ่านการทำงานศิลปะร่วมกับชุมชน ด้วยการดึงเอาความถนัดด้านงานศิลป์ของภาคเหนือออกมาผ่านคอนเซ็ปท์ที่เธอร่วมพัฒนา และเป็นผู้กระจายสินค้าให้ โดยนำมาจำหน่ายในศูนย์การเรียนรู้ หรือฝากขายร่วมกับสินค้าของเธอในสถานที่ท่องเที่ยว
เธอย้ำว่า การทำงานกับชุมชนสิ่งสำคัญคือ ต้องเข้าใจธรรมชาติของชุมชน ชาวบ้านไม่ใช่ลูกจ้างโรงงาน เขามีชีวิตประจำวันของเขา งานของเราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกิจวัตรในชุมชนเท่านั้น และยิ่งเป็นงานฝีมือ จะยิ่งไปเร่งไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องหาตรงกลางระหว่างการทำธุรกิจ และการใช้ทุนในท้องถิ่นที่มาเป็นแรงงานให้กับเรา ถ้าเขามีงานบุญงานบวช เราจะไปเร่งเขาไม่ได้เด็ดขาด
สำหรับใครที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กเพจ Elephant PooPooPaper Park