เนื้อหาในหมวด ข่าว

รู้จัก “10 ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์” หายนะของระบบนิเวศ ห้ามนำเข้าไทย ไม่ได้มีแค่ปลาหมอคางสีดำ!

รู้จัก “10 ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์” หายนะของระบบนิเวศ ห้ามนำเข้าไทย ไม่ได้มีแค่ปลาหมอคางสีดำ!

นอกจากปลาหมอคางสีดำ มีปลาอะไรอีกที่เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ รวมถึงเปิดความหมายเอเลี่ยนสปีชีส์ คืออะไร มีผลเสียอย่างไร ทำไมถึงห้ามนำเข้าไทย?

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินชื่อ “ปลาหมอสีคางดำ”อยู่บ่อยครั้ง โดยปลาชนิดนี้ถูกระบุว่าเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” ซึ่งสร้างความเดือนร้อนให้แก่ชาวประมงในหลายจังหวัด ทั้งทำลายระบบนิเวศทางน้ำ ขยายพันธุ์จนปลาท้องถิ่นหายไปจนหมด 

ด้วยเหตุนี้ภาครัฐในหลายส่วน จึงได้มีการคิดมาตราการกำจัดปลาหมอคางสีดำ เช่น ห้ามไม่ให้นำเข้า หรือหากพบให้รีบแจ้งทางการทันที เป็นต้น

อย่างไรก็ตามทุกคนทราบหรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วในไทยไม่ได้มีแค่ปลาหมอคางสีดำ ที่รุกรานระบบนิเวศไทยนะ แต่ยังมีปลาจากต่างถิ่นอีกหลายชนิดที่ถูกเรียกให้เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ และห้ามไม่ให้นำเข้าอีกด้วย 

วันนี้ Sanook จึงอยากพาทุกคนมาทำความรู้จัก “เอเลี่ยนสปีชีส์” ให้มากขึ้น ว่าคืออะไร มีผลเสียอย่างไร รวมไปถึงเปิดลิสปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ที่ห้ามนำเข้าในไทยอีกด้วย 

เอเลี่ยนสปีชีส์ คืออะไร?

เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) เป็นคำที่ใช้เรียก สิ่งมีชีวิตที่มาจากต่างถิ่น ที่ถูกนำเข้ามาในถิ่นใหม่ ซึ่งเกิดการแพร่พันธุ์จำนวนมาก จนทำให้สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นนั้นกลายเป็น “ชนิดพันธุ์เด่น” ในสภาพแวดล้อมนั้น ซึ่งอาจสร้างความเสียหายและรุกรานสัตว์ในระบบนิเวศเดิมอย่างมาก

สำหรับเอเลี่ยนสปีชีส์ไม่ได้ใช้เรียกแค่ “ปลาที่มาจากต่างถิ่น” เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ปีก รวมไปถึงพืชบางชนิดอีกด้วย

เอเลี่ยนสปีชีส์ ทำลายระบบนิเวศอย่างไร? 

ต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่สิ่งมีชีวิตต่างถิ่น “ทุกชนิด” จะสร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศเสมอไป บางชนิดก็สามารถอยู่รวมกับระบบนิเวศได้

อย่างไรก็ตาม “ส่วนใหญ่” เอเลี่ยนสปีชีส์ มักสร้างความปัญหาให้กับระบบนิเวศมากกว่าสร้างประโยชน์ โดยการเข้ามาของเอเลี่ยนสปีชีส์ทำให้สิ่งมีชีวิตในสภาพแวดล้อมเดิมลดลงไป เนื่องจากการเพิ่มของประชากรเอเลี่ยนสปีชีส์ และนิสัยโดยทั่วไปที่ไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อม 

ยกตัวอย่างเช่น “ปลาหมอคางดำ” ที่สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว มีนิสัยกินจุ ความอยากอาหารตลอดเวลา อีกทั้งยังดุร้าย เมื่อปลาหมอคางดำมีจำนวนเยอะขึ้นก็ส่งผลให้ปลาเดิมถูกกินจนสูญพันธุ์ไป 

นอกจากนี้การรุกรานของเอเลี่ยนสปีชีส์ ยังส่งผลต่อสุขอานามัย โดยเป็นพาหะนำโรคสู่สัตว์หรือมนุษย์ด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพของชาวประมงด้วย

เอเลี่ยนสปีชีส์ เข้ามาเผยแพร่ในไทยได้อย่างไร? 

ส่วนใหญ่เอเลี่ยนสปีชีส์ มักถูกนำมาเผยแพร่โดยฝีมือมนุษย์ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อหวังจะใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น การนำเข้าเพื่อการประมงหรือการเกษตร หรือเพื่อทดลอง 

อย่างไรก็ตามในบางครั้งอาจนำเข้ามาโดยความไม่ได้ตั้งใจของมนุษย์ การติดมากับน้ำอับเฉาเรือ ของ หอยกะพงเทศ

10 ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ ห้ามนำเข้าไทย 

ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร เมื่อปี พ.ศ. 2564 ระบุสายพันธุ์ปลาที่ห้ามนำเข้าประเทศไทย โดยไม่ได้รับอนุญาต มีทั้งหมด 10 สายพันธุ์ ดังนี้ 

1.ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin tilapia) 

มีลักษณะคล้ายกับปลาหมอเทศ ต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกา เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาพแวดล้อมได้ดี และมีการแพร่พันธุ์ที่รวดเร็ว โดยขยายพันธุ์ได้ทุก ๆ 22 วัน ประกอบกับนิสัยดุร้ายและอยากอาหารตลอดเวลา ทำให้ปลาท้องถิ่นมีจำนวนลดลง 

2.ปลาหมอมายัน (Mayan cichlid)

เป็นปลาที่มีแถบสีดำบนตัวจำนวน 7 แถบ มีจุดสีดำอยู่บริเวณคอดหาง มีนิสัยดุร้าย และมีความสามารถในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 บริเวณคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตบางขุนเทียน 

3.ปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra cichlid)

เป็นปลาที่กินเนื้อและพืช มีแถบสีดำบนตัว 5 แถบ มีความทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในวงกว้าง ต้นกำเนิดอยู่ที่น่านน้ำทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ประเทศกินี-บิสเซา สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน และประเทศไลบีเรีย

4.ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และปลาลูกผสม (Peacock cichlid, Butterfly peacock bass)

ปลาพีคอกแบส หรือที่รู้จักกันว่า ปลากะพงนกยูง มีต้นกำเนิดจากทวีปอเมริกาใต้ นำเข้าไทยมาด้วยจุดประสงค์เลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เนื่องจากปลาชนิดนี้มีลวดลายสวยงาม คล้ายกับรำแพนหางของนกยูง มีนิสัยกินจุ กินได้ไม่เลือก จึงสร้างความเสียหายให้ระบบนิเวศอย่างมาก

5.ปลาเทราท์สายรุ้ง (Rainbow trout)

เป็นปลาชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาแซลมอน มีขนาดใหญ่ สามารถโตได้เต็มทีถึง 1.2 เมตร เช่นเดียวกันกับปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ชนิดอื่น ๆ ปลาเทราท์สายรุ้ง ก็มีนิสัยไม่เลือกกิน กินได้ทุกอย่างตั้งแต่ปลาไปจนถึงแมลงน้ำ

นอกจากนี้ปลาชนิดนี้ยังได้รับการถูกจัดอันดับอยู่ใน 5 อันดับแรกจาก 100 ของปลาต่างสายพันธุ์ที่รุกรานสิ่งมีชีวิตพื้นถิ่นให้เสียหายอย่างรุนแรง โดยเป็นการจัดอันดับโดย สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) 

6.ปลาเทราท์สีน้ำตาล (Sea trout)

7.ปลากะพงปากกว้าง (Largemouth black bass) 

เป็นปลาที่มีสีเขียวมะกอก มีจุดสีดำหรือสีเข้มเรียงต่อกันเป็นแนวยาวดูขรุขระในแต่ละด้านของลำตัว ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้

8.ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช (Goliath tigerfish, Giant tigerfish)

9.ปลาเก๋าหยก (Jade perch)

ถึงจะชื่อปลาเก๋าแต่ไม่ใช่นะ! ปลาเก๋าหยกจัดอยู่ในวงศ์ปลาข้างตะเภา (Terapontidea) ซึ่งเป็นวงศ์ที่ใกล้ชิดกับปลากะพง พฤติกรรมการกินสามารถเขมือบทุกอย่างที่ขวางหน้าได้ทั้งหมด 

ส่วนลักษณะของปลาชนิดนี้ มีหัวขนาดเล็ก หัวและหลังโค้ง ท้องมีขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วนกลม มีเกล็ดค่อนข้างละเอียด ครีบหางสั้นและเว้าเล็กน้อย ทั้งสองด้านหรือด้านใดด้านหนึ่งจะมีจุดสีดำรูปวงรี 1-3 จุด หรืออาจมากกว่านั้น

10.ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่ง พันธุกรรม GMO LMO ทุกชนิด

มักเป็นจำพวก “ปลาเรืองแสง” ที่ถูกปรับเปลี่ยนพันธุกรรม เพื่อจุดประสงค์ความสวยงาม โดยนำยีนส์ที่ได้จากแมงกะพรุนหรือดอกไม้ทะเลบางชนิดไปใส่ไว้ใน DNA ของปลา ทำให้ปลาสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเด่นขึ้นมา และเมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงไฟ Blacklight ก็จะเกิดการเรืองแสง 

ถึงแม้ว่าลักษณะของปลาชนิดนี้จะสวยงามและแปลกตา แต่ก็แต่ขึ้นชื่อว่าถูกการปรับเปลี่ยนพันธุกรรม ก็สร้างความอันตรายให้แก่ปลาในท้องถิ่น และมนุษย์ได้ เนื่องจากอาจมีการปนเปื้อนที่อันตราย

นอกจากปลา 10 ชนิดนีแล้ว ยังมีสัตว์น้ำอื่น ๆ อีก 3 สายพันธุ์ ที่ห้ามนำเข้าไทย ได้แก่ ปูขนจีน, หอยมุกน้ำจืด และหมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล Hapalochlaena อีกด้วย

สรุปลักษณะโดยรวมของปลาเอเลี่ยนสปีชีส์

หากศึกษาเกี่ยวกับนิสัยและธรรมชาติของปลาทั้ง 10 ชนิดนี้ พบว่าปลาส่วนใหญ่ที่กล่าวมา มักมีความสามารถในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่สูง ทำให้สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีนิสัยที่ดุร้าย ทำให้ไปแก่งแย่งอาหารและพื้นที่อาศัยของปลาท้องถิ่นในระบบนิเวศ 

และในบางสายพันธุ์ ยังเป็นเป็นพาหะนำโรคและปรสิตด้วย เช่น ใน ปลาหมอมายัน พบว่าเป็นพาหะของปรสิต และพยาธิอีก 71 ชนิด เป็นต้น