เนื้อหาในหมวด ข่าว

หลอนแถมอันตราย! ชาวเน็ตจีนแบน “หน้ากากซิลิโคนเสมือนจริง” หลังโจรใส่ก่ออาชญากรรมหลายคดี

หลอนแถมอันตราย! ชาวเน็ตจีนแบน “หน้ากากซิลิโคนเสมือนจริง” หลังโจรใส่ก่ออาชญากรรมหลายคดี

เว็บไซต์ต่างประเทศ รายงานว่า ในประเทศจีนได้มีอัตราการอาชญากรรมที่สูงขึ้น จากการใช้หน้ากากซิลิโคนที่มีลักษณะเหมือนผิวหนังคนจริง ๆ ซึ่งทำให้เกิดเป็นข้อโต้เถียงในสังคมว่าควรมีกฎหมายเข้ามาบังคับใช้ผลิตภัณฑ์หน้ากากซิลิโคนนี้หรือไม่

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา บ้านจำนวน 4 หลังในเซี่ยงไฮ้ถูกงัด และโดนขโมยเงินไปกว่า 100,000 หยวน (เกือบ 500,000 บาท) เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุตัวผู้ต้องสงสัยได้ กลับพบว่าชายอายุ 40 ปี ใช้หน้ากากซิลิโคนปลอมตัวเป็นชายชรา เพื่อก่อเหตุในครั้งนี้ 

นอกจากนี้เมื่อเดือนที่แล้ว ตำรวจได้สืบสวนคดีลักทรัพย์หลายคดีในมณฑลเจียงซู และพบว่าชายผู้ก่อคดี ปกปิดตัวเองด้วยการสวมหน้ากากซิลิโคน ปลอมตัวเป็นพนักงานการไฟฟ้า เพื่อที่จะได้ไม่มีใครระบุได้ว่าเขาคือใคร ซึ่งเขาได้ก่อคดีอยู่หลายคดีกว่าจะจับได้

นี่เป็นเพียงตัวอย่างแค่ 2 คดีที่เกิดขึ้นจริงในประเทศจีน อย่างไรก็ตามในความจริงแล้วมีการก่อเหตุลักษณะนี้อยู่นับครั้งไม่ถ้วน ทั้งนี้สาเหตุคาดว่ามาจากการซื้อขายหน้ากากซิลิโคนนี้เป็นไปอย่างง่ายและสะดวกสบาย เพียงแค่สั่งออนไลน์ วัดขนาดศีรษะ เลือกรูปคนที่อยากทำเป็นหน้ากาก และรอประมาณ 1 เดือน ก็ได้แล้ว

โดยราคาจะอยู่ที่ 23,000 หยวน (ประมาณ 114,526 บาท) ความเสมือนจริงของหน้ากากนี้ ถึงขั้นที่ร้านค้ากล้าเคลมว่าหากสวมใส่หน้ากากนี้ จะสามารถปลดล็อคโทรศัพท์ของคนอื่นได้ หากไม่ได้ยินดีคืนเงินเต็มจำนวน

ด้วยอัตราการก่ออาชญากรรมที่สูงขึ้น ประกอบกับการหาซื้อหน้ากากที่ง่ายเกินไป ทำให้ในชาวเน็ตจีนหลายคนออกมาแสดงความกังวล และมีความเห็นว่าควรมีการควบคุมการขายหน้ากากซิลิโคนนี้อย่างจริงจัง 

บางส่วนของคอมเมนต์:

  • ผู้ขายควรตระหนักถึงความเสี่ยงของหน้ากากนี้ ประกอบกับการมีกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้มีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในทางที่ผิด
  • ความก้าวหน้าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือเป็นดาบสองคม เพราะหากใช้สิ่งเหล่านี้อย่างถูกวิธีก็จะนำแต่สิ่งที่ดีงามมาให้แก่มวลมนุษย์ แต่หากใช้ในทางที่ผิด ก็ไม่ต่างอะไรกับการเปิดกล่องแพนโดร่าเลย (กล่องแพนโดร่า เป็นกล่องที่ระบุไว้ในตำนานกรีกโบราณ เชื่อว่ากล่องนี้บรรจุความชั่วร้ายนานา ซึ่งทำให้จิตใจของมนุษย์ไม่บริสุทธิ์)
  • นี่มันเป็นความผิดของมนุษย์ ไม่ใช่หน้ากาก

นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านออกมาแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ โดยหนึ่งในนั้น คือ หลิว จิง ทนายความ ได้กล่าวว่า “การทำหน้ากากเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องมีการควบคุมการใช้งาน อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาประเมินความเสมือนจริงของหน้ากากนี้”