อ.เจษฎ์ตอบแล้ว! ตู้เย็นระเบิดได้จริงหรือไม่? พร้อมแนะ 10 ข้อควรระวังในการใช้ตู้เย็น
อ.เจษฎ์ เฉลยแล้ว! ตู้เย็นระเบิดได้จริงหรือไม่ พร้อมแนะนำ 10 ข้อควรระวังในการใช้ตู้เย็น เพื่อความปลอดภัย
สืบเนื่องจากกรณีเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นที่บ้านหลังหนึ่งใน จ.ร้อยเอ็ด ทำให้ครอบครัวต้องวิ่งหนีตายออกมา และเมื่อตำรวจตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ พบซากตู้เย็นพังยับ ทำให้สันนิษฐานว่าเพลิงไหม้ครั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจาก "ตู้เย็นระเบิด" อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการสืบสวน
หลังจากข่าวนี้เผยแพร่ออกไป บางคนก็อาจเกิดคำถามว่า "ตู้เย็นระเบิดได้จริงไหม"
ตู้เย็นระเบิดได้จริงหรือไม่
ล่าสุด “รศ. ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” หรือ “อ.เจษฎ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้ออกมาพูดถึงประเด็นนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยชี้ว่า
“ตู้เย็นสามารถระเบิดได้ แต่สำหรับกรณีบ้านที่จังหวัดร้อยเอ็ดหลังนี้ ก็ต้องรอผลการพิสูจน์หลักฐานกันต่อไปนะครับ ว่ามีสาเหตุแน่ชัดจากอะไรบ้าง”
อ.เจษฎ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมกับทีมข่าว Sanook ว่า “ประเด็นที่น่าสนใจของเหตุการณ์เพลิงไหม้นี้คือ การวางวัตถุระเบิด เช่น สเปรย์กระป๋อง ไว้ใกล้ตู้เย็น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเหตุไฟไหม้นี้ขึ้น เชื่อมโยงจากการที่เจ้าของบ้าน ชี้แจ้งว่าได้มีการวางกระป๋องยาฆ่าแมลงไว้ใกล้กับตู้เย็น”
นอกจากนี้ในโพสต์ของอ.เจษฎ์ ได้ระบุถึงปัจจัยที่ทำให้ตู้เย็นระเบิด ได้แก่
ไฟฟ้าลัดวงจร : ส่วนมากเกิดการลุกไหม้จากปลั๊กและสายไฟ ทำให้เปลวเพลิงลามมาถึงตัวของตู้เย็น เมื่อตู้เย็นลุกไหม้ ก็เกิดการระเบิดขึ้น
คอมเพรสเซอร์ระเบิด : เป็นกรณีที่พบได้เช่นกัน และจะเห็นร่องรอยการระเบิดที่ด้านหลังของตู้เย็น การที่คอมเพรสเซอร์ระเบิด เกิดจากเครื่องคอมเพรสเซอร์ทำงานหนักเกินไป หรือได้รับความร้อน (จากเพลิงไหม้) ถ้าแค่ตัวของคอมเพรสเซอร์เท่านั้นที่ระเบิด ส่วนมากก็จะไม่เกิดไฟลุกไหม้ขึ้น เพราะน้ำมันคอมเพรสเซอร์นั้น ไม่มีสถานะในการนำพาไฟ จึงไม่ทำให้ไฟติด (นอกเสียจากว่า จะเจอกับสารที่ทำให้ไฟติด อย่าง ออกซิเจนบริสุทธิ์ ที่พบได้บ่อยจากการตกค้างในการนำมาใช้ทดสอบรอยรั่ว ของท่อน้ำยาคอมเพรสเซอร์ในตู้เย็น เมื่อเกิดการสันดาปขึ้น จึงทำให้ระเบิดลุกไหม้ได้)
เกิดจากแรงดันของก๊าซ หรือแอลกอฮอล์ : การที่นำเครื่องดื่มที่มีก๊าซอยู่ เช่น น้ำอัดลม เบียร์ หรือแม้แต่น้ำหอม ไปแช่แข็งในช่องฟรีซ ก็อาจทำให้ระเบิดได้ เนื่องจากแรงดันของก๊าซในเครื่องดื่มนั้นมีอยู่มาก ยิ่งมีหลายขวด ก็จะยิ่งเพิ่มความแรงขึ้น
อ.เจษฎ์ จึงแนะนำ 10 ข้อควรระวังในการใช้ตู้เย็นเพื่อหลีกเลี่ยงตู้เย็นระเบิด
อย่าใช้งานตู้เย็นในแบบที่ทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักเกินไป : เช่น การอัดแช่ของในตู้ จนแน่นเกินไป , การแช่ของน้อย ปล่อยให้ตู้โล่งเกินไป , การนำของร้อนไปแช่เย็น เป็นต้น
ควรเดินสายดิน: การเดินสายดิน ช่วยป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรได้ และช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
ตั้งตู้เย็นให้เหนือระดับน้ำ: สำหรับบ้านที่อยู่ใกล้น้ำหรือมีน้ำท่วมถึงแนะนำให้ยกระดับตู้เย็นขึ้น โดยใช้ขารองตู้เย็น เพื่อช่วยยกระดับขึ้นให้เหนือน้ำ
ไม่กระตุกปลั๊กตู้เย็น: ในการดึงปลั๊กตู้เย็น ควรจับที่ตัวจับปลั๊ก ไม่ควรกระตุกจากสายไฟ เพราะอาจทำให้สายไฟขาดใน และอาจทำให้เกิดไฟรั่วได้
ไม่เปลี่ยนอะไหล่หรือซ่อมตู้เย็นด้วยตัวเอง: หากไม่มีพื้นฐานในการซ่อมตู้เย็น ไม่ควรเปลี่ยนอะไหล่หรือซ่อมตู้เย็นด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้สายไฟรั่วขาดระหว่างซ่อมได้ หรือทำให้เกิดการรั่วของสารทำความเย็น เป็นต้น
ไม่ใช้น้ำล้างตู้เย็น: การล้างตู้เย็น ควรใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดบิดให้แห้ง เช็ดตู้เย็น หรือเช็ดกำจัดกลิ่นด้วยน้ำส้มสายชูผสมน้ำ ไม่ควรใช้น้ำล้างตู้เย็นหรือน้ำร้อนมาราดในตู้เย็น เพราะอาจทำให้เกิดรอยรั่วได้ และที่สำคัญคือ ไม่ควรใช้น้ำยาที่มีสารเคมี มาเช็ดทำความสะอาดตู้เย็น
ปิดตู้เย็นให้สนิททุกครั้ง: หากปิดตู้เย็นไม่สนิท จะทำให้ความร้อนเข้าไปด้านใน ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักขึ้น ทำให้น้ำแข็งละลาย ทำให้ของในตู้เย็นไม่เย็น และทำให้กินไฟ
ควรเสียบปลั๊กกับเต้ารับโดยตรง: ไม่ควรเสียบปลั๊กตู้เย็นกับปลั๊กสามตาหรือใช้ร่วมกับปลั๊กอื่น ควรเสียบเข้ากับเต้ารับหลัก โดยตรง
ไม่ควรเก็บของที่มีสารเคมี หรือวัตถุไวไฟ ไว้ในตู้เย็น: ตัวอย่างเช่น สีหรือยาบางชนิด สารไวไฟ น้ำหอมที่ไม่มีฝาปิดสนิท เป็นต้น เพราะอาจทำให้เกิดการระเบิดได้
หมั่นเช็คความผิดปกติของตู้เย็น : ถ้ามีอาการแปลกไป เช่น มีเสียงดังมากกว่าที่เคย มีความร้อนมากบริเวณข้างตู้เยอะเกินไป หรือมีกลิ่นอะไรแปลก ๆ อาจจะเป็นสัญญาณถึงความไม่ปกติ ไม่ควรนิ่งนอนใจ อาจลองตามช่างมาช่วยดูอาการให้ดีกว่า
อ.เจษฎ์ ทิ้งท้ายว่า "ในการเลือกซื้อตู้เย็น ก็ควรเลือกดูยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือ และดูเรื่องการรับประกันและบริการหลังการขาย ประกอบด้วยครับ”