แบรด พิทท์ กับการแหกกับดักความหล่อ โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
ใครๆ ก็รู้จัก แบรด พิทท์ ใครๆ ก็ชอบ แบรด พิทท์ และใครๆ ก็พูดถึง แบรด พิทท์ ในช่วงนี้ เพราะออสการ์กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วัน และเพราะ พิทท์ นอนมาว่าจะได้ออสการ์ตัวแรกในสาขานักแสดงสมทบจากเรื่อง Once Upon a Time… in Hollywood คงไม่มีพลิกล็อคแน่นอนงานนี้
วันนี้ผู้เขียนขออนุญาตรำลึกถึง แบรด พิทท์ สักเล็กน้อย เพราะเขาเป็นนักแสดงที่เริ่มโด่งดังขึ้นมาตั้งแต่ตอนที่ผู้เขียนเริ่มทำงานเขียนถึงภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคกลางทศวรรษที่ 1990 และเพราะเพิ่งได้เห็นบทความโดย มาโนห์ลา ดาร์กิส ของ นสพ. New York Times ที่พูดเรื่องเดียวกับที่ผู้เขียนครุ่นคิดอยู่เช่นกัน นั่นคือการที่ดาราที่เคยขายแต่ความหล่อ ความเซ็กซี่ เน้นถอดเสื้อโชว์แผงหน้าอก สามารถถีบตัวเองออกจากกับดักความหล่อและกลายเป็นดาราที่คนนับถือในฝีมือ เลือกบทได้อย่างชาญฉลาด แถมยังกระเถิบขึ้นไปเป็นโปรดิวเซอร์หนังคุณภาพหลายเรื่อง
แบรด พิทท์ เคยได้เสนอชื่อเขาชิงออสการ์สามครั้งในฐานะนักแสดง จาก 12 Monkeys, The Curious Case of Benjamin Button และ Money Ball แต่ยังไม่เคยชนะเลย แต่หนังที่เขาร่วมอำนวยการสร้าง 12 Years A Slave ชนะรางวัลออสการ์ Best Picture ในปี 2014 ซึ่งหมายความว่า พิทท์ เคยได้ออสการ์แล้ว แต่แน่นอนล่ะ ออสการ์สาขานักแสดง เป็นสิ่งที่ดาราอเมริกันทุกคนไม่ว่าจะดังหรือไม่ดังขนาดไหน ถือเป็นสุดยอดการยอมรับในอาชีพของตน
บทความของ ดาร์กิส ตั้งข้อสังเกตว่า แบรด พิทท์ กลายเป็น sex symbol จากบทเล็กๆ ในหนังเรื่อง Thelma & Louise ในปี 1991 และโดยเฉพาะจากช็อตความยาว 13 วินาที ที่กล้องแพนจากเอว (หรือจะบอกว่าเป้าก็ได้) โลมเลียขึ้นไปท่อนบนเปล่าเปลือย จนไปจบที่หน้าอันเย้ายวนหมดจดของเขา แถมยังถือไดร์เป่าผมทำท่ายียวน ฉากดังกล่าวทำให้ดาราหนุ่มโนเนมตอนนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์ทางเพศคนใหม่ในทันที ดาร์กิสยังเชื่อว่า ใน Once Upon a Time… in Hollywood มีภาพที่คล้ายๆ จะอ้างอิงหรือล้อเลียนช็อตที่กล่าวมา คือเราเห็น พิทท์ ไม่ใส่เสื้อ ทำงานบนหลังคา และคล้ายๆ กับจะตั้งใจโชว์หุ่นในคนดูได้อื้อหืออ้าหากันพอสมควร
สำหรับคนดูในไทยยุค 90 หนังของ พิทท์ ที่ทำให้คนจำได้มีอยู่สองสามเรื่อง คือ Legends of the Fall หนังพีเรียดดราม่าเรื่องพี่น้องสามหนุ่มกับความรักและการทรยศ ตามมาด้วย Seven หนังฆาตกรต่อเนื่องคลาสสิค และ Fight Club หนังที่ทั้งท้าทายและเสียดสีลัทธิ “ความแมน” หลังจากนั้นยังมีหนังอย่าง Meet Joe Black และ Troy ที่ถึงแม้ พิทท์ จะได้รับคำชมในฐานะนักแสดง แต่สิ่งที่โดดเด่นและจองจำเขาไว้ คือรูปร่างหน้าตาและหุ่นราวเทพเจ้ากรีก ที่กลายเป็นคุณลักษณะที่ทำให้แฟนทั้งโลกจดจำเขาได้มากกว่าบทบาทการแสดง
ในโลกที่ดาราหญิงมักจะตัดพ้อว่า พวกเธอถูกตัดสินคุณค่าด้วยรูปร่างหน้าตาและ “ความเป็นหญิง” แทนที่จะเป็นความสามารถ ดาราอย่าง แบรด พิทท์ คงรู้สึกถึงความไม่แฟร์ในแบบคล้ายๆ กันในตอนนั้น
แต่ พิทท์ (หรือดาราชายจำนวนมาก) มีภาษีกว่าดาราหญิงคือ ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งมีบทให้เลือกและยิ่งมีโอกาสฉีกตัวเองออกจากภาพจำเดิมเพื่อไปรับงานที่เข้มข้นหรือท้าทายมากขึ้นได้ ในช่วง 10 กว่าปีหลัง แบรด พิทท์ ค่อยๆ สลัดภาพจิ๊กโก๋เซ็กซี่ชอบโชว์ของ มาเป็นนักแสดงสายคุณภาพ และพยายามร่วมงานกับผู้กำกับที่มองเห็นศักยภาพเขา ตั้งแต่หนังรางวัลปาล์มทองอย่าง The Tree of Life (หนังอาร์ทที่คนบ่นว่าแสนเบื่อกำกับโดย เทอเรนซ์ มาลิค), Inglourious Basterds หนังสงครามโลกตลกร้ายของ เควนติน ทารันทิโน่ และ Moneyball หนังดราม่ากีฬาเบสบอลที่ได้เข้าชิงออสการ์หลายสาขา มาถึงในปีที่แล้ว พิทท์ มีหนังที่ได้รับคำชมมากมายถึงสองเรืองติดๆ กัน คือหนังอวกาศ Ad Astra โดยผู้กำกับ เจมส์ เกรย์ และ Once Upon a Time… in Hollywood ที่ร่วมงานกับ ทารันทิโน่ อีกครั้ง ว่ากันว่า พิทท์ ควรจะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงดาราชายยอดเยี่ยมจาก Ad Astra มากกว่าจะได้แค่ดาราสมบทจาก Once Upon a Time
เส้นทางของ แบรด พิทท์ แสดงให้เห็นว่าการขายหน้าตาเป็นเพียงเรื่องฉาบฉวย แต่หากดาราสามารถก้าวข้ามเนื้อหนังมังสาของตัวเอง คนดูก็พร้อมจะก้าวตามไปด้วยและยอมรับในฐานะศิลปิน (สังเกตว่าดาราชายอีกคนที่พยายามจะเดินเส้นทางแบบนี้คือ โรเบิร์ต แพททินสัน) 30 ปีแล้วที่ วิลเลียม แบรดลี่ย์ พิทท์ ตระหง่านอยู่บนจอหนัง เปลี่ยนผ่านผู้ชมน่าจะสองถึงสามรุ่น และหลังจากได้ออสการ์ปีนี้ เชื่อว่า พิทท์ จะยังคงมีไฟมีแรงสร้างงานให้เราดูกันต่อไป