ด.ญ.ป่วยแปลก ถูกตีตราเป็น "ค้างคาว" หมอไขปริศนาไม่ได้ รู้ชีวิตครอบครัวยิ่งเศร้า
ด.ญ.อายุ 8 ขวบ เผชิญการตรีตราเป็น "มนุษย์ค้างคาว" ทุกข์ทรมานจากโรคหายาก ยังรอคอยปาฏิหาริย์เพื่อจะได้มีชีวิตตามปกติ
"ดีเอลลา" (Diella) เด็กหญิงวัย 9 ขวบ จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดและการถูกตีตราทุกวัน เนื่องจากเกิดมาพร้อมกับอาการผิดปกติในร่างกายที่หาได้ยาก ทำให้ผู้คนทั้งในหมู่บ้านและที่โรงเรียนต่างเรียกว่า "ค้างคาว" เนื่องจากรูปลักษณ์ของเธอ ความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและผิวหนัง ตั้งแต่ศีรษะ คอ และไหล่
ในการสัมภาษณ์พิเศษกับ Afrimax English พ่อแม่เปิดเผยว่า เด็กหญิงเป็นบุตรคนที่ 5 จากทั้งหมด 8 คน และเป็นเพียงคนเดียวที่เกิดมาพร้อมกับความพิการที่หายากเช่นนี้ หลังจากคลอดต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลา 8 วันก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาลได้ “เธอเป็นลูกคนที่ห้าของฉัน ลูกๆ ของฉันทุกคนเกิดมาแข็งแรงดี ไม่มีความพิการใดๆ ฉันไม่รู้ว่าทำไมเธอถึงเกิดมาต่างออกไป” เซซิล แม่ของดีเอลลา คร่ำครวญในบทสัมภาษณ์
“ เราเห็นลูกของเราเกิดมาพิการซึ่งทำให้เราหวาดกลัว เมื่อเราสอบถาม ไม่มีใครอธิบายให้เราฟังว่าทำไมลูกของเราถึงพิการ” พ่อของเด็กหญิงกล่าวเสริม
ดร.โจเซฟ แพทย์ที่ติดตามอาการของดีเอลลา ยอมรับว่ายังมีปริศนาเกี่ยวกับอาการดังกล่าว และชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ ตั้งแต่อาการป่วยของมารดาในระหว่างตั้งครรภ์ ไปจนถึงการติดเชื้อที่ไม่ได้รับการรักษา อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนจากพ่อแม่ของดีเอลลา ทำให้พวกเขายังคงไม่แน่ใจ อีกทั้งเมื่ออายุมากขึ้น อาการของดีเอลลาก็แย่ลง โดยมีอาการเจ็บหน้าอก ขา และแขนร่วมด้วย
แม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบากเหล่านี้ แต่เด็กหญิงก็ยังคงเดินหน้าเรียนหนังสืออย่างมุ่งมั่น โดย ครูแอมไพร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน ชื่นชมความสามารถทางวิชาการของดีเอลลา โดยเธอติดท็อป 5 นักเรียนดีเด่นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การกลั่นแกล้งจากเด็กเกเรได้ส่งผลกระทบต่อผลการเรียนของเธอ จนกระทั่งพ่อแม่ของเธอเข้ามาแทรกแซง ทำให้ทางการต้องดำเนินการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ
แต่มันไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อความทุกข์ยากของดีเอลลาขยายออกไปนอกห้องเรียน ขณะที่เธอเผชิญกับการถูกสังคมภายในชุมชนรังเกียจ แม้ว่าเธอจะพยายามเข้มแข็ง แต่ก็ต้องต่อสู้กับความรู้สึกโดดเดี่ยว ด้อยค่า นับถือตนเองต่ำลง และขาดความมั่นใจ มักจะตั้งคำถามถึงคุณค่าของตัวเองเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมวัย
แพทย์ย้ำถึงความจำเป็นในการผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการของดีเอลลา แต่พ่อแม่ของเธอกลับไม่มีเงินเพียงพอที่จะเข้ารับการรักษา ครอบครัวยังคงติดอยู่ในวังวนของความยากลำบากทางการเงิน แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อภาระทางการเงินในการเลี้ยงดูลูกแปดคน และเสียใจที่ไม่สามารถให้การรักษาเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตให้กับลูกสาวสุดที่รักได้
เรื่องราวของดีเอลลาสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของเด็กๆ ที่มีความพิการต้องเผชิญ ในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม และการเอาชนะการตีตราทางสังคม