เนื้อหาในหมวด ข่าว

รู้หรือไม่? แค่นั่งบนรถเมล์ ก็เปลี่ยนแปลงกฎหมายสหรัฐฯไปตลอดกาล

รู้หรือไม่? แค่นั่งบนรถเมล์ ก็เปลี่ยนแปลงกฎหมายสหรัฐฯไปตลอดกาล

“การนั่งบนรถเมล์” ดูเหมือนจะเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปที่เราทำได้ในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามหากย้อนไปเมื่อปีค.ศ.1880 ในทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายแบ่งแยกคนดำและคนขาวไม่ให้สุงสิงกัน เรียกว่า “กฎหมาย Jim Crow” ซึ่งระบุว่า “ที่นั่งด้านหน้ามีไว้ให้คนขาว ส่วนที่นั่งด้านหลังไว้ให้คนดำ อย่างไรก็ตามหากที่นั่งคนขาวเต็ม คนดำทั้งแถวจะต้องเสียสละยืนให้คนขาวนั่ง” 

นอกจากนี้กฎหมาย Jim Crow ยังบังคับให้คนดำใช้ตู้รถไฟที่แย่ที่สุดและปฏิเสธการให้บริการในสถานีปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร และโรงแรม กฎหมายนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกดขี่คนดำมาเป็นเวลาหลายปี

จนกระทั่ง “โรซา พาร์กส (Rosa Parks)” หญิงสาวผิวดำจากมอนต์โกเมอรี รัฐแอละแบมากล้าที่จะต่อต้านมัน จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ

โรซา พาร์กส ผู้จุดประกายการเปลี่ยนแปลง

เรื่องราวนี้เกิดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1955 ขณะที่ พาร์กสส์นั่งรถเมล์กลับบ้านหลังเลิกงานที่ห้างสรรพสินค้า เธอเลือกนั่ง"แถวสำหรับคนผิวดำ" อย่างไรก็ตามเมื่อแถวที่นั่งสำหรับคนผิวขาวเต็ม  เจมส์ เบลค คนขับรถเมล์ บอกให้พาร์คส์และคนดำอีกสามคนลุกจากที่นั่ง

ในทีแรกไม่มีใครยอมลุก แต่เมื่อเบลคข่มขู่ว่าจะแจ้งความ ผู้โดยสารผิวดำคนอื่น ๆ จึงยอม อย่างไรก็ตามไม่ใช่กับพาร์กส เธอปฎิเสธที่จะลุก

ต่อมาไม่นานเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาจับกุมเธอ และถูกคุมขังเป็นเวลา 1 วัน พร้อมปรับเป็นเงิน 14 ดอลลาร์ จากความผิดฐาน ‘ฝ่าฝืนกฎหมายไม่ลุกให้คนขาวนั่ง’ 

นักกิจกรรมสังคม

เหตุการณ์นี้จุดประกายให้คนอีกหลายหมื่นคนลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อสิทธิความเท่าเทียมของตัวเอง ผ่านการแบนการใช้รถเมล์  เพื่อแสดงให้เห็นว่าจะไม่ยอมถูกกดขี่อีกต่อไป ซึ่งการประท้วงในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อรายได้กิจการรถเมล์อย่างมาก โดยรายได้ลดฮวบอย่างรวดเร็ว

ต่อมารัฐบาลจึงเพิ่มค่าโดยสารแท็กซี่ หวังกดดันให้ผู้คนกลับมาใช้รถเมล์ แต่ผิดคาดผู้ประท้วงเลือกที่จะไม่ขึ้นทั้งแท็กซี่และรถเมล์ ใช้วิธีเดินแทน ไม่ว่าจุดหมายจะไกลแค่ไหนก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงจุดยืน เรียกร้องสิทธิให้แก่ตัวเอง

ขณะที่ดำเนินการประท้วง มีหลายคนพยายามโจมตีพาร์คส์ ว่าที่เธอไม่ยอมลุกจากที่นั่งไม่ได้เพราะต้องการความยุติธรรมอะไรหรอก เธอแค่เหนื่อยล้ากับการทำงาน ซึ่งพาร์คส์ได้โต้กลับประเด็นนี้ไปว่า

“ฉันไม่ได้เหนื่อยกาย ไม่เลยสักนิด และไม่ได้เหนื่อยล้ากว่าวันอื่น ๆ ด้วย แต่ที่ฉันเหนื่อยคือต้องทนกับเรื่องนี้ต่างหาก”

การประท้วงดำเนินไปถึง 381 วัน จนในที่สุด ศาลกลางของมอนต์โกเมอรีมีคำตัดสินว่า ให้ยกเลิกกฎหมายการแบ่งแยกที่นั่งตามสีผิว เพื่อให้สิทธิที่เท่าเทียมกันในทุกคน 

ถึงแม้ว่าหลังจากการประท้วงครั้งนี้ จะทำให้พาร์กสสูญเสียงาน และถูกข่มขู่จากฝ่ายคนขาวจนต้องย้ายไปอยู่เมืองอื่น อย่างไรก็ตามการกระทำของเธอในครั้งก็ได้มอบชีวิตและความเท่าเทียมให้กลุ่มคนผิวดำอีกหลายล้านคน อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นการการยุติการแบ่งแยกเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกา

โรซา พาร์กส เสียชีวิตอย่างสงบ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 2005 ด้วยวัย 95 ปี ถึงแม้ว่าเธอจะจากโลกนี้ไปแล้วแต่เรื่องราวของเธอก็ยังคงเป็นแรงบันดาลใจ ให้ใครหลายคนเอาชนะความกลัว ก้าวออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง

 อ่านเพิ่มเติม: