เปิดชีวิต "แยม ฐปณีย์" จากเด็กบ้านแตก สู่นักข่าวหญิงแกร่งของวงการสื่อ
กลายเป็นมีมที่คนพูดถึงอย่างมากกับคำว่า "คุณกิตติคะ" จากการรายงานข่าวของ แยม-ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามสายลุย จากรายการ ข่าว 3 มิติ ที่มี กิตติ สิงหาปัด นั่งเล่าข่าวในทุกคืน
แต่ใครจะรู้ว่า ก่อนหน้าที่ แยม ฐปณีย์ จะมาเป็นนักข่าวภาคสนามชื่อดังนั้น อดีตเธอเคยเป็นเลขาผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยมาก่อน และได้จับพลัดจับผลูมาเป็นนักข่าวภาคสนาม และทำงานในวงการสื่อมา 24 ปี มาจนถึงวันนี้
ล่าสุด แยม ได้มาเปิดเผยเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองในรายการ Level Up ที่ออนแอร์ทางช่องยูทูบ Thairath Online Originals ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 20.00 น. โดยเจ้าตัวได้เผยชีวิตในวัยเด็ก ที่ครอบครัวแตกแยก แต่เติบโตมาโดยมีคุณปู่กับคุณอาซัพพอร์ตและดูแลอย่างดี พร้อมบอกว่า ตั้งแต่เรียนจบมา งานแรกที่ทำไม่ใช่การเป็นนักข่าว แต่เป็นเลขาผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย
"พี่เป็นเด็กที่ครอบครัวแตกแยก ตอนแรกอยู่กับพ่อแม่ แต่ต่อมาอยู่กับยาย เกิดมาในครอบครัวที่มีพื้นฐานดี คุณปู่กับคุณอาเป็นครู ยอมรับเลยว่าในครอบครัวที่พ่อแม่เลิกกัน ลูกจะมีปัญหาหมด แต่ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะผ่านมาได้"
"ซึ่งในครอบครัวพี่ พี่ผ่านมาได้ แต่น้องพี่ผ่านมาไม่ได้ พี่ยอมรับเลยว่า ผ่านมาได้เพราะสังคม การเรียน และเพื่อน ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่เราเสียใจ ที่น้องพี่ผ่านมาไม่ได้ เสียใจมาตลอดว่าเป็นเพราะเราได้รับโอกาสที่แตกต่างกันรึเปล่า"
"พี่ได้เรียนในโรงเรียนที่ดี ซึ่งน้องห่างจากพี่ 3 ปี ก็พยายามจะให้เค้าได้เรียนโรงเรียนที่ดีเหมือนกัน ด้วยความที่เค้าเป็นเด็กผู้ชาย โอกาสที่จะไปเหลวไหลมันมีมากกว่า"
"และอีกอย่าง ครอบครัวเป็นสิ่งกระตุ้นเรา ถ้าเราทำสิ่งที่ไม่ดีต่อเขา มันก็น่าสงสาร เพราะคุณอาเป็นคนหาเงินส่งให้เราเรียน ก็รู้สึกว่าเราได้โอกาสมากกว่าเด็กคนอื่นที่พ่อแม่เลิกกัน ลำบากไม่มีเงินเรียนหนังสือ แต่เรายังมีเงินเรียนหนังสือ ไม่ได้ลำบากเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นทำไมเราถึงไม่ทำตัวดีๆ ตั้งใจเรียน แม้ว่าเราจะเจอปัญหาเรื่องพ่อแม่ แต่เรายังมีคุณอาที่ซัพพอร์ตและรักเรา"
"อาชีพแรกที่เคยทำคือ เป็นเลขาผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย แต่สุดท้ายมันไม่ใช่ตัวเอง เพราะต้องไปนั่งโต๊ะทำเอกสาร พอมาเรียน ป.โท วารสารฯ ธรรมศาสตร์ ก็ไปฝึกงานกับเพื่อนที่เป็นนักข่าว เลยมองว่าตัวเราไม่เหมาะกับงานออฟฟิศ ก็เลยลาออก ไปสมัครงานเป็นนักข่าว เค้าก็ถามว่า ไปต่างจังหวัดได้มั้ย ทำงาน 24 ชม. ได้มั้ย ถ้าถึงเวลาต้องเดินทางไปได้ทันทีมั้ย เราก็บอกว่าได้ และเค้าก็บอกว่า พรุ่งนี้มาเริ่มงานได้เลย จาก 3 คำถามนี้ เป็นนักข่าวมา 24 ปีแล้ว"
"ถามว่าเคยทำพลาดในฐานะที่เป็นนักข่าวบ้างมั้ย เคย ในแต่ละสถานการณ์ที่เป็นการรายงานสด มันเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้า บางทีเรามองว่าเราไม่ได้ทำผิด แต่สังคมบอกว่าอันนี้ทำไม่ถูก ในชีวิตการเป็นนักข่าว เจอเรื่องดราม่าจากการทำข่าวเยอะมาก"
"ครั้งแรกที่รายงานสด ม็อบพันธมิตร เมื่อตอนปี 2548 ที่สนามหลวง พี่รายงานสดเรื่องตัวเลขผู้มาชุมนุม แต่ทางผู้มาชุมนุมเค้าไม่พอใจที่เรารายการตัวเลขผู้มาชุมนุมน้อยไป เค้าก็เขวี้ยงของใส่ ไล่เราออกจากพื้นที่ และมีเหตุระทึกขวัญเกิดขึ้น นั่นเป็นเหตุการณ์แรกในชีวิตที่เกิดขึ้นในฐานะที่พี่เป็นนักข่าว ซึ่งเค้าก็มองว่าเราอยู่ฝ่ายไหน สีไหน แต่ตัวตนเราก็คือนักข่าว ที่เรามีหน้าที่รายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา"
"ดราม่าที่เจอในช่วงนี้มีหลายเหตุการณ์มาก เพราะข่าวที่เราทำมันหนัก อย่างเรื่องโรฮีนจา เป็นเหตุการณ์ที่เจอมาอย่างหนัก และเจอดราม่าหนักสุด"
"เวลาผ่านไป ในช่วงที่ทีวีดิจิตอลเริ่มไม่เหมือนเดิมแล้ว พี่ก็เลยมาตั้งสำนักข่าวของพี่เอง คือ The Reporters เป็นสำนักข่าวออนไลน์ เราทำข่าวในเรื่องที่เราสนใจ อยากให้เป็นสำนักข่าวที่สร้างนักข่าวมารายงานข่าวต่างๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา"
"ถามว่า จรรยาบรรณสื่อจากวันนั้นถึงวันนี้ยังเหมือนเดิมมั้ย คือ คนอื่นไม่รู้ แต่สำหรับพี่ยังเป็นอยู่ แต่มันก็เป็นเรื่องยาก และท้าทายมากที่จะรักษามันไว้ แต่พี่เชื่อมั่นในจิตใจของนักข่าวทุกคนว่ามีจิตสำนึกของตัวเองอยู่แล้ว"
"และมาตอนนี้ก็เริ่มท้อใจที่เห็นองค์กรใหญ่ๆ เริ่มปลดพนักงานแล้ว เพราะคนที่ถูกปลดแรกๆ เลยก็คือช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพ นักข่าว เรียกว่าเป็นมดงานที่ต้องไปหาข่าว พี่ว่าถ้าเริ่มต้นในปลดคนเหล่านี้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นในความพังพินาศของอุตสาหกรรมสื่อ อย่าลืมว่าข่าวที่คุณเอามาพูด หรือเอามาแชร์ มาจากนักข่าว ถ้าทุกองค์กรข่าวไม่ให้ความสำคัญของคนกลุ่มนี้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความพังพินาศ"
"นักข่าวทำข่าวเพื่อที่จะออกไปให้คนได้รับรู้ได้เห็นกัน จริงๆ นักข่าวก็เป็นคนหนึ่งที่อยากรู้อยากเห็นความเป็นไปในสังคม เพียงแต่เราเป็นคนที่ตั้งคำถาม หาคำตอบมาให้คนได้รู้กัน มันเป็นอาชีพที่โคตรวิเศษ ให้เราได้มาตั้งคำถาม พี่ถึงหลงใหลและรักในอาชีพนี้มาก"