เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

สาเหตุ “แก้วหูทะลุ” อันตรายจากช่วงเสี้ยววินาที

สาเหตุ “แก้วหูทะลุ” อันตรายจากช่วงเสี้ยววินาที

หลายคนอาจเคยได้ยินความน่ากลัวของอาการ “แก้วหูทะลุ” ที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดจนน้ำตาเล็ดกันไปหลายรายกันมาบ้างแล้ว ที่สำคัญคือ อาการนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราอาจพบเจอด้วยตัวเอง หรือมีคนรอบข้างมีอาการนี้ได้ทุกที่ทุกเวลา แต่อาจจะไม่ทราบว่าแก้วหูทะลุมีสาเหตุจากอะไร และมีวิธีการป้องกัน และรักษาอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นเรามาศึกษาเรื่องนี้กันไว้ก่อน เผื่อภายภาคหน้าใครมีอาการคล้ายแก้วหูทะลุ เราจะได้เข้าใจ และรีบจัดการอย่างถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว

 

แก้วหูทะลุ คืออะไร?

แก้วหูทะลุ เป็นอาการที่เยื่อแก้วหูฉีกขาด โดยเยื่อแก้วหูจะมีลักษณะเหมือนแผ่นกลมบางเหมือนหนังกลอง อยู่ลึกเข้าไปในรูหูบริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างหูชั้นนอก (ใบหู และรูหู) และหูชั้นกลาง

ลักษณะเยื่อแก้วหูที่ฉีกขาดที่พบ อาจเป็นวงรี แตกออกเป็นหลายแฉกเหมือนดาว ขอบไม่เรียบ หรือมีเลือดคั่งบริเวณขอบของรอยทะลุ หรือภายในช่องหู

 

สาเหตุของ “แก้วหูทะลุ”

  • ถูกกระแทกด้วยของแข็งอย่างรวดเร็ว และรุนแรง เช่น การใช้อุปกรณ์แคะหูอย่างไม่ระมัดระวัง ประสบอุบติเหตุของแข็งเข้าไปในรูหู

  • หูถูกอัดกระแทกอย่างรุนแรงจากภายนอก เช่น การถูกตบบ้องหูอย่างแรง ประสบอุบัติเหตุของหนักๆ กระแทกหู

  • ความดันรอบข้างเปลี่ยนกะทันหัน เช่น คนที่โดยสารเครื่องบิน หรือคนที่ดำน้ำลึกอย่างรวดเร็ว

  • เยื่อแก้วหูติดเชื้อ อาจเป็นการติดเชื้อโดยฉับพลัน หรือเรื้อรังก็ได้ สาเหตุอาจมาจากการเป็นหวัด หรือน้ำเข้าหู เมื่อพบการติดเชื้อจนเป็นหนอง ติดเชื้อนาน หรือซ้ำๆ จนปริมาณหนองมีมากขึ้นเรื่อยๆ ความดันในหูชั้นกลางจะสูงขึ้น จนแก้วหูทะลุในที่สุด
  •  

    อันตรายจากอาการแก้วหูทะลุ

    หากแก้วหูทะลุ จะมีปัญหาทางการได้ยิน ประสิทธิภาพในการได้ยินเสียงจะลดลง (ได้ยินมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับขนาดของรู และความรุนแรงของเยื่อแก้วหูที่ทะลุ) และเมื่อเยื่อแก้วหูทะลุ อาจเป็นช่องทางของเชื้อโรคต่างๆ ที่จะเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น และเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงได้ นอกจากนี้ หากมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด บ้านหมุน ไปทำลายเส้นประสาทจนทำให้ใบหน้าเกิดอาการอัมพาต หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้

     

    การรักษาอาการแก้วหูทะลุ

    ขั้นแรกหากมีอาการปวดหู เป็นไข้ หรือพบของเหลวคล้ายหนองไหลออกมาจากหู ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ชัดเจน หากเป็นอาการแก้วหะลุที่ไม่รุนแรงมาก รูที่ทะลุไม่ใหญ่มาก (อาจเกิดจากการแคะหู) อาจหายได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษาอะไรเพิ่มเติมมากนัก แต่หากพบว่ารูที่ทะลุมีขอบไม่เรียบ แพทย์อาจวางกระดาษรองตรงชั้นขอบเพื่อช่วยให้แก้วหูสมานกันได้เรียบสนิทมากยิ่งขึ้น หากพบหนองก็จะต้องดูดหนองออกไปสังเกต และให้ยาฆ่าเชื้อเพิ่มเติม สุดท้ายหากมีอาการรุนแรง พบรูทะลุค่อนข้างใหญ่ หรือติดเชื้อหนัก อาจทำการผ่าตัดปะแก้วหู

     

    การป้องกันแก้วหูทะลุ

    พยายามอย่าใช้อุปกรณ์แคะหูแหย่เข้าไปในรูหูด้านใน (อ่านต่อ >> จริงหรือไม่? “คอตตอนบัด” ห้ามใช้เช็ดหู?) หลีกเลี่ยงการขึ้นเครื่องบินขณะที่กำลังไม่สบาย หรือเป็นหวัด ระมัดระวังการเปลี่ยนแปลงของความดันขณะดำน้ำ และหากมีไข้ ปวดหู หูอื้อ และพบของเหลวคล้ายหนองไหลออกมาจากหู ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษาอย่างถูกวิธี