ครบรอบ 52 ปี วันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์"
วันที่ 1 ตุลาคม 2567 กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ ครบรอบ 52 ปี ณ บริเวณลานหน้าพระอนุสาวรีย์กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพฯ โดยมี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีถวายพานพุ่มสักการะพระอนุสาวรีย์ พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย และอ่านสารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ ครบรอบ 52 ปี พร้อมทั้งมอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานแก่บุคลากรของกรมส่งเสริมสหกรณ์
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ ครบรอบ 52 ปี กรมส่งเสริมสหกรณ์จะขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐโดยมุ่งผลักดันให้สหกรณ์ภาคการเกษตร ภายใต้หัวข้อ "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์" ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำมาเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์ภาคการเกษตรทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรในชุมชนแบบมืออาชีพ มีการสร้างกลุ่มอาชีพเพื่อสร้างอาชีพเสริม รวมถึงมีการสร้างกลุ่มอาชีพเพื่อสร้างอาชีพเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการตลาดผลผลิตในสถาบันเกษตรกร เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2568 กรมส่งเสริมสหกรณ์มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของเกษตรกรและสหกรณ์ภาคการเกษตรให้มีความเข้มแข็ง โดยการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ทำระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ในพื้นที่การเกษตรแบบแปลงใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ปริมาณต่อไรเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณภาพผลผลิตทั้งในด้านคุณภาพและความปลอดภัยให้เป็นที่ยอมรับของตลาด ทั้งในด้านคุณภาพและความปลอดภัย รวมทั้งมีการส่งเสริมและพัฒนาร้านค้าสหกรณ์ให้เป็นจุดจำหน่ายสินค้าเกษตรทั้งทางตรงและช่องทางออนไลน์ให้มีความเข้มแข็ง และผลักดันการเชื่อมโยงเครือข่ายร่วมกันระหว่างสหกรณ์ภาคการเกษตรและสหกรณ์นอกภาคเกษตร
อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายการทำงานภายในปี 2568 กรมส่งเสริมสหกรณ์จะมุ่งพัฒนา "สหกรณ์" ให้เป็นสถาบันเกษตรกรที่มีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิก และพัฒนา "บุคลากรกรมส่งเสริมสหกรณ์" ให้มีศักยภาพในการทำงานสูง สามารถเข้าไปดำเนินงานร่วมกับสหกรณ์ที่รับผิดชอบได้ เพื่อให้สามารถดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายทั้ง 7 เป้าหมาย ได้แก่ 1) ตลาดนำการผลิต เป็นการผลักดันแนวคิด "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์", 2) การแก้ปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ โดยตั้งเป้าหมายไว้ให้ได้อย่างน้อย 25% ของหนี้ NPL, 3) การส่งเสริมปริมาณธุรกิจสหกรณ์ให้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 3% ของธุรกิจสหกรณ์, 4) ฟื้นฟูสหกรณ์ที่ขาดทุนสะสมให้มีกำไรเพิ่มขึ้น 25%, 5) การพัฒนาความเข้มแข็งของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ให้มีความเข้มแข็ง ชั้น 1 และชั้น 2 เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2, 6) การพัฒนาบุคลากร จะต้องพัฒนาบุคลากรของสหกรณ์ และบุคลากรของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น, 7) การเตรียมความพร้อม และเริ่มดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ปี 2568 ให้เสร็จภายในไตรมาสแรก เพื่อให้สามารถคาดการณ์ถึงปัญหาหรืออุปสรรคที่จะเกิดขึ้น และสามารถวางแผนรับมือได้อย่างเป็นระบบและรวดเร็ว
สำหรับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ถือเป็นหน่วยงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2515 มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน แนะนำ กำกับ และดูแลระบบสหกรณ์ของประเทศไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ "การสหกรณ์มั่นคง สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้มแข็ง เศรษฐกิจและสังคมของชุมชนยั่งยืน" ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนสหกรณ์ 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร, สหกรณ์นิคม, สหกรณ์ประมง, สหกรณ์ร้านค้า, สหกรณ์บริการ, สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน และ สหกรณ์ออมทรัพย์
สหกรณ์เป็นหนึ่งในสถาบันเกษตรกรที่มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพของสมาชิก ซึ่งมีหน้าที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็ง ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในภาวะวิกฤติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของบุคลากรกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่จะต้องเข้าไปขับเคลื่อน ผลักดัน สร้างความรู้แก่สหกรณ์อย่างรอบด้าน ทั้งด้านการผลิต การบริหาร การและตลาดและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งเป็นองค์ที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้มวลสมาชิกได้อย่างแท้จริง