เนื้อหาในหมวด ข่าว

หมออธิบาย \

หมออธิบาย "ยืน" หรือ "นั่ง" ทำงานนานๆ เสี่ยงโรคหัวใจ เพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจผิด

 สรุปแล้วความเชื่อที่ว่า “ยืนทำงาน” แก้ปัญหาสุขภาพจากการนั่งทำงานนานๆ ได้หรือไม่?

การนั่งทำงานเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพมากมาย เช่น อาการของกระดูกสันหลัง ปวดหลัง คอตึง เป็นต้น ดังนั้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “โต๊ะยืน” จึงได้รับการส่งเสริมให้เป็นวิธีการแก้ปัญหาการนั่งทำงานนานๆ ที่เชื่อว่ามีประสิทธิภาพอย่างไรก็ตาม การวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นว่า วิธีนี้ไม่เพียงแต่ล้มเหลวในการแก้ปัญหา แต่ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพเช่น เส้นเลือดขอด และลิ่มเลือด

ตามรายงานของสำนักข่าวเดอะการ์เดียน การศึกษาล่าสุดจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ พบว่าการยืนมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดขอด และลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก การศึกษานี้สำรวจจากผู้ใหญ่ชาวอังกฤษมากกว่า 80,000 คน แสดงให้เห็นว่าการยืนเป็นเวลานาน ไม่สามารถปรับปรุงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจทำให้เกิดปัญหาการไหลเวียนโลหิตและการเผาผลาญ

ทีมวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ใหญ่ 83,013 คน ในฐานข้อมูลบันทึกสุขภาพของ UK Biobank ที่ไม่มีโรคหัวใจในช่วงเริ่มต้นของการศึกษา และผู้ที่สวมอุปกรณ์เพื่อติดตามกิจกรรมทางสุขภาพของพวกเขา ผลการวิจัยพบว่าทุกๆ 30 นาทีของการยืนนานกว่า 2 ชั่วโมง ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น 11% นอกจากนี้ การศึกษายังไม่พบว่าการยืนช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจล้มเหลว  หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ

ดร.อาห์มาดี จากคณะแพทยศาสตร์และสุขภาพ  มหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า การนั่งหรือยืนเป็นเวลานานๆ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ และแนะนำให้ผู้คนออกกำลังกายเป็นประจำในชีวิตประจำวัน “การยืนนานๆ ไม่สามารถชดเชยการใช้ชีวิตแบบนั่งอยู่ประจำที่ และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคในระบบไหลเวียนโลหิต"

สำหรับผู้ที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน การผสมผสานกิจกรรมเป็นครั้งคราว และการออกกำลังกายเป็นประจำ อาจเป็น “วิธีที่ดีกว่า” ในการลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุปกรณ์สวมใส่ แนะนำว่าเราสามารถปรับปรุงสุขภาพของตนเองได้ โดยการหยุดพัก ลุกเดินไปรอบๆ เป็นช่วงๆ ในระหว่างกิจวัตรประจำวัน

“ไมเคิล เกอร์ส” เจ้าหน้าพยาบาลอาวุโสด้านโรคหัวใจของ British Heart Foundation ยังเน้นย้ำว่า “ความกระฉับกระเฉง” เป็นกุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยง แม้การศึกษาบางชิ้นไม่พบว่าการยืนเป็นเวลานานๆ ไม่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่สำหรับบางคนการยืนเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อสุขภาพของระบบไหลเวียนโลหิต ดังนั้น กิจกรรมและการออกกำลังกายในระดับปานกลาง ยังคงเป็นวิธีสำคัญในวิถีสุขภาพดี