เนื้อหาในหมวด ข่าว

\

"ครูก้อย นัชชา" เผยความรู้ 20 สารต้องห้ามในสกินแคร์ ที่คนเตรียมท้องต้องเลี่ยง

สำหรับผู้หญิงที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ คนท้อง หรือคุณแม่ที่อยู่ช่วงให้นมบุตร การเลือกใช้สกินแคร์ควรระมัดระวังตั้งแต่เริ่มเตรียมตั้งครรภ์ เนื่องจากส่วนผสมจากสารสกัดบางชนิดในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวอาจมีผลกระทบต่อทารกและสุขภาพของคุณแม่ได้ ดังนั้นก่อนจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและผิวกายลองมาพลิกอ่านฉลากข้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ว่ามีสารที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์และลูกน้อยหรือไม่

“ครูก้อย นัชชา ลอยชูศักดิ์” กรรมการบริหาร บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และครูวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้ง เพจให้ความรู้เตรียมตั้งครรภ์ยื่นหนึ่งในใจผู้มีบุตรยาก https://www.facebook.com/BabyAndMom.co.th/ เผยว่า ผู้หญิงที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรระมัดระวังในการเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิว  เนื่องจากสารบางชนิดในสกินแคร์สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังและเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่สารเหล่านี้จะถูกส่งผ่านไปยังทารกในครรภ์หรือน้ำนมแม่ ซึ่งสารเคมีบางชนิดสามารถรบกวนการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก และอาจส่งผลต่อระบบฮอร์โมน โดยทำให้ระบบฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่และทารกทำงานผิดปกติ อีกทั้งในช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ร่างกายของคุณแม่มีความไวต่อสารเคมีและการระคายเคืองมากขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ มีผื่นคัน หรือผิวแห้งขาดน้ำ โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหอมสังเคราะห์หรือสารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง

ดังนั้นควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ทั้งบำรุงผิวหน้าหรือผิวกายที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ ตั้งแต่กระบวนการเตรียมตั้งครรภ์ ตลอดจนช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อย

โดย ครูก้อย นัชชา ลอยชูศักดิ์ ครูวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งเพจให้ความรู้เตรียมตั้งครรภ์ยื่นหนึ่งในใจผู้มีบุตรยาก  https://www.facebook.com/BabyAndMom.co.th/ ได้รวบรวมสารสกัด20ชนิดที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารก ที่มักพบในผลิตภัณฑ์สกินแคร์ หรือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าและผิวกายที่ควรหลีกเลี่ยงตั้งแต่กระบวนการเตรียมตั้งครรภ์เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อย ได้แก่

  • เรตินอลและวิตามินเอ (Retinol และ Vitamin A) อาจก่อให้เกิดการผิดปกติของทารกในครรภ์ แนะนำให้หลีกเลี่ยง
  • ทาโซแรค/แอคคิวเทน (Tazorac/Accutane) ใช้สำหรับรักษาสิวและลดริ้วรอยมีความเสี่ยงสูงในการก่อให้เกิดการผิดปกติของทารกในครรภ์
  • เตตราไซคลีน (Tetracycline) ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย อาจก่อให้เกิดความผิดปกติของฟันและกระดูกของทารก
  • ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) ลดเลือนจุดด่างดำและฝ้า อาจมีความเสี่ยงสูงในการก่อให้เกิดการผิดปกติของทารก
  • ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ใช้เป็นสารกันเสีย มีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดมะเร็งและระคายเคืองผิวหนัง เข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง และสารผ่านเข้าสู่น้ำนมได้
  • อลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminium Chloride) ใช้ในผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ อาจมีผลต่อระบบประสาทและการเจริญเติบโตของทารก
  • กรดซาลิไซลิกในปริมาณสูง (BHA) (High dose salicylic acid) ขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ลดการอุดตันของรูขุมขน อาจทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ แนะนำให้หลีกเลี่ยง
  • ไดไฮดรอกซีอะซีโตน (Dihydroxyacetone) ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวมีสีแทน ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง และมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ
  • พทาเลต (Phthalates) ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีความยืดหยุ่นและเนื้อสัมผัสที่นุ่มนวล รบกวนการทำงานของฮอร์โมนในร่างกาย อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์
  • ลาโนลิน (Lanolin) ให้ความชุ่มชื้น ทำให้ผิวเนียนนุ่ม ซึ่งลาโนลิน ที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นอาจมีสารตกค้าง เช่น ยาฆ่าแมลง ที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง
  • เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) รักษาสิว ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง
  • พาราเบนส์ (Parabens) ใช้เป็นสารกันเสีย อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองและปัญหาทางฮอร์โมน
  • น้ำมันหอมระเหย (Essential oils) บำรุงผิว มีกลิ่นหอมธรรมชาติ บางชนิดอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือมีผลต่อระบบฮอร์โมน เช่น โรสแมรี่ โหระพา อบเชย แนะนำให้ใช้ Fragrances Allergen free
  • ปิโตรเลียมเจลลี่ (Petroleum) ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ปิโตรเลียมที่ไม่ผ่านการกลั่นอย่างสมบูรณ์อาจมีสารปนเปื้อน PAHs ที่บางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง แนะนำให้ใช้เจลจากธรรมชาติเพื่อความปลอดภัย เช่น Shea Butter หรือ coconut oil
  • สารกันเสีย (Preservative) ป้องกันการเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา บางชนิดอาจมีผลต่อระบบฮอร์โมน
  • ลิควิดพาราฟิน (Liquid Paraffin) ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว อาจมีสารปนเปื้อน PAHs ที่บางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง แนะนำให้ใช้ oil จากธรรมชาติ เช่น coconut oil
  • ซิลิโคน (Silicone) สารกันเสีย ลดการเกิดแบคทีเรียและเชื้อรา ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง เนื่องจากการอุดตันของรูขุมขน
  • แอลกอฮอล์ (Ethanol, Isopropanol) ลดการเกิดแบคทีเรียและเชื้อรา อาจทำให้ผิวแห้ง ระคายเคือง และเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้
  • น้ำหอม (Fragrance) สารเคมีในน้ำหอมบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการแพ้ ผิวระคายเคือง และมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองทางเดินหายใจ อาจมีการสะสมในร่างกายและมีผลกระทบต่อระบบฮอร์โมน
  • สีสังเคราะห์ (Artificial Color) ให้สีสันสวยงาม ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูน่าสนใจและมีความสวยงาม สีสังเคราะห์บางชนิดอาจมีส่วนประกอบของโลหะหนักและสารเคมีที่อาจเป็นอันตราย ทำให้เกิดอาการแพ้ ระคายเคือง และเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้