เนื้อหาในหมวด ข่าว

ผู้เชี่ยวชาญ เผย 7 สิ่งของในครัวที่สกปรกที่สุด มีแบคทีเรียฉ่ำ แต่คนยังใช้อยู่ทุกวัน

ผู้เชี่ยวชาญ เผย 7 สิ่งของในครัวที่สกปรกที่สุด มีแบคทีเรียฉ่ำ แต่คนยังใช้อยู่ทุกวัน

ผู้เชี่ยวชาญ เปิด 7 สิ่งของในครัว ที่สกปรกที่สุด แหล่งสะสมเชื้อโรค แต่ผู้คนยังใช้อยู่ทุกวันโดยไม่รู้ตัว

เว็บไซต์ SOHA รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญได้เผย 7 จุดที่สกปรกที่สุดในครัว พร้อมคำแนะนำวิธีทำความสะอาดแต่ละจุด เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคและลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย

1. อุปกรณ์ทำอาหาร

ที่ตีไข่ ที่เปิดกระป๋อง และที่ขูดผัก เป็นอุปกรณ์สำคัญในครัวที่อาจแฝงเชื้อโรคไว้โดยไม่รู้ตัว ดร.ชุน ถัง แพทย์ทั่วไปและผู้อำนวยการด้านการแพทย์แห่ง Pall Mall Medical กล่าวว่า อุปกรณ์หลักในครัว โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่มีส่วนประกอบหลายชิ้น เช่น ที่ตีไข่ อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย เช่น อีโคไล, ซาลโมเนลลา และลิสทีเรีย ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้

ควรทำความสะอาดอุปกรณ์บางชนิดทันทีหลังใช้งานทุกครั้งเท่าที่ทำได้ ดร.ถัง กล่าวว่า ซอกเล็ก ๆ และรอยแยกของอุปกรณ์อาจสะสมเศษสิ่งสกปรกเล็กจิ๋วที่ตามองไม่เห็น แต่เราอาจเผลอปนเปื้อนในชา หม้อข้าว กระทะ หรืออาหารว่างอื่น ๆ ในแต่ละวันโดยไม่รู้ตัว

คำแนะนำ:

  • ใช้แปรงขัดทำความสะอาดที่ขูดผัก ล้างให้สะอาด และปล่อยให้แห้งเองแทนการใช้ผ้าเช็ด
  • สำหรับที่เปิดกระป๋อง ซึ่งหลายคนอาจไม่คิดว่าต้องล้าง ควรแช่ในน้ำร้อนผสมสบู่เหลวประมาณ 30 นาที จากนั้นขัดด้วยฟองน้ำ ล้างน้ำสะอาด และซับให้แห้งด้วยกระดาษทิชชู เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีคราบสกปรกตกค้าง

2. อุปกรณ์รับประทานอาหาร

อุปกรณ์บางประเภทอาจสะสมเชื้อโรคได้มากกว่าชนิดอื่น ๆ ดร.ถัง กล่าวว่า ตัวอย่างเช่น ช้อน ส้อม หรือตะเกียบที่มีลวดลายซับซ้อน อาจมีเศษอาหารติดค้างอยู่ในซอกเล็ก ๆ และเกิดการเน่าเสีย ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียอันตราย เช่น ซาลโมเนลลา และ อีโคไล ได้

คำแนะนำ:

  • เชื้ออีโคไลบางสายพันธุ์สามารถทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงและนำไปสู่ภาวะไตวายได้
  • หากต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ ควรเลือกแบบที่มีดีไซน์เรียบง่ายและไม่มีซอกเล็ก ๆ เพื่อความปลอดภัยมากกว่า

แม้ว่าการล้างอุปกรณ์ด้วยเครื่องล้างจานจะดูเป็นวิธีที่สะดวกและใช้น้ำร้อนที่มือคนไม่สามารถทนได้ แต่จากการศึกษาปี 2019 พบว่า 100% ของเครื่องล้างจานที่ทดสอบมีการปนเปื้อนเชื้อโรคหลากหลายชนิด ซึ่งอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้ ดังนั้นควรหมั่นทำความสะอาดเครื่องล้างจานอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค

3. เครื่องปั่นและหม้อทอดไร้น้ำมัน

ครั้งต่อไปที่จะปั่นน้ำผลไม้หรืออาหาร ควรทำความสะอาดเครื่องปั่นให้ทั่วถึง หลังการศึกษาของมูลนิธิสุขาภิบาลแห่งชาติพบว่าเครื่องปั่นเป็นอุปกรณ์ที่สะสมเชื้อโรคมากเป็นอันดับ 3 ในครัว โดยมีเชื้อแบคทีเรีย เช่น ซาลโมเนลลา, เชื้ออีโคไล, ยีสต์ และรา

วิธีทำความสะอาดเครื่องปั่น:

ดร.เอมิเลีย ปาเซียห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว แนะนำว่า

  • หลังใช้งาน เติมน้ำอุ่นครึ่งโถและหยดสบู่เหลวเล็กน้อย
  • เปิดเครื่องปั่นด้วยความเร็วต่ำ 30-60 วินาทีเพื่อกำจัดเศษอาหาร
  • ถอดชิ้นส่วนออกและล้างด้วยมือในน้ำสบู่อุ่น
  • ใช้แปรงขนอ่อนหรือนำแปรงสีฟันเก่ามาทำความสะอาดรอบใบมีดและจุดที่เข้าถึงยาก
  • ล้างน้ำสะอาดและผึ่งให้แห้ง

วิธีดูแลหม้อทอดไร้น้ำมัน:

ดร.ปาเซียห์ กล่าวว่า เชื้อโรคมักสะสมในตะแกรงใส่อาหาร เนื่องจากน้ำมันที่เหลืออาจเหม็นหืนและทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ เช่น ปวดท้องหรือคลื่นไส้

  • ทำความสะอาดหม้อหลังใช้งานทุกครั้งเมื่อเย็นสนิท
  • แช่ตะแกรงและถาดรองในน้ำสบู่อุ่น และใช้แปรงขนอ่อนหรือฟองน้ำขัดคราบอาหารออก
  • สำหรับด้านในหม้อ ใช้ผ้าชุบน้ำผสมสบู่เช็ดทำความสะอาด
  • หากมีคราบมันฝังแน่น ใช้ส่วนผสมของน้ำส้มสายชู 1 ส่วนต่อน้ำ 3 ส่วน เพื่อขจัดคราบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ขวดเกลือและพริกไทย

ลองนึกดูว่าสัมผัสขวดเครื่องปรุงเหล่านี้บ่อยแค่ไหนในแต่ละวัน ดร.ถัง กล่าวว่า “ขวดเหล่านี้อาจเป็นหนึ่งในสิ่งที่สะสมเชื้อโรคมากที่สุดในครัวของคุณ”

ดร.ปาเซียห์ เสริมว่า “เชื้อแบคทีเรียอย่างสแตปฟิโลคอคคัสและไวรัสจากการเตรียมเนื้อดิบ หรือจากคนป่วย สามารถแพร่กระจายมายังขวดเหล่านี้ได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อมีการส่งต่อกันบนโต๊ะอาหาร”

เพื่อความปลอดภัย ควรทำความสะอาดขวดเกลือและพริกไทยอย่างสม่ำเสมอด้วยผ้าเช็ดฆ่าเชื้อ โดยให้เน้นบริเวณส่วนบนของขวดที่ถูกสัมผัสบ่อยที่สุด

5. แก้วและถ้วย

หลายคนอาจคิดว่าการล้างถ้วยชาแบบลวก ๆ เพียงพอแล้ว แต่ควรคิดใหม่อีกครั้ง ดร.ปาเซียห์ อธิบายว่า “ปัญหาอยู่ที่ชั้นฟิล์มชีวภาพ ซึ่งก็คือชั้นของแบคทีเรียที่สามารถเติบโตในถ้วยได้ โดยเฉพาะเมื่อถ้วยใส่ของเหลวอย่างกาแฟหรือนม”

แบคทีเรียอย่าง สแตฟิโลคอคคัส และอีโคไล สามารถคงอยู่บนพื้นผิวได้นานหลายวัน ดังนั้น ควรใช้ น้ำร้อน สบู่ และฟองน้ำหรือแปรงสะอาด ล้างให้สะอาด และผึ่งให้แห้งเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโรคจากผ้าเช็ด

ข้อควรระวัง:

อย่าเก็บถ้วยหรือจานที่แตกร้าวไว้ใช้งานต่อ แม้ว่าจะมีคุณค่าทางจิตใจ ดร.ถัง กล่าวว่า “เมื่อเครื่องเซรามิกแตกหรือร้าว พื้นผิวจะไม่เรียบเนียนและอาจดูดซับเชื้อโรคเหมือนฟองน้ำ” เพื่อความปลอดภัย ควรทิ้งแก้วและจานที่ชำรุด หรือหากคุณไม่อยากทิ้ง ให้ใช้เพื่อตั้งโชว์แทน

6. ตู้เย็น

อุณหภูมิเย็นในตู้เย็นไม่ได้หมายความว่าอาหารจะปลอดภัยจากเชื้อโรคเสมอไป มีงานวิจัยพบว่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด เช่น แบคทีเรีย รา และยีสต์ สามารถเจริญเติบโตหรืออยู่รอดได้ที่อุณหภูมิ 4°C ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของตู้เย็นทั่วไป

ตัวอย่างเช่น เชื้อจุลินทรีย์จากอาหารสดที่ยังไม่ได้ล้าง อาจปนเปื้อนบนพื้นผิวของตู้เย็นผ่านมือของคุณ หรืออาจรั่วไหลออกจากบรรจุภัณฑ์ และอาจแพร่กระจายไปยังอาหารอื่น ๆ ภายในตู้

ดร.ปาเซียห์ แนะนำว่า

  • ทำความสะอาดตู้เย็นอย่างทั่วถึงทุก 1-2 เดือน
  • นำอาหารทั้งหมดออกก่อนทำความสะอาด
  • เช็ดชั้นวางและพื้นผิวด้วยน้ำยาทำความสะอาดสูตรอ่อนโยนหรือน้ำส้มสายชู
  • ใส่ใจเป็นพิเศษกับลิ้นชัก ซึ่งเป็นจุดที่เชื้อโรคสะสมได้ง่าย
  • อย่าลืมทำความสะอาดที่จับประตูตู้เย็น ซึ่งเป็นจุดที่ถูกสัมผัสบ่อยและสะสมเชื้อโรคได้มากที่สุด

7. ฟองน้ำล้างจานและผ้าเช็ด

แม้จะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำความสะอาด แต่ฟองน้ำล้างจานและผ้าเช็ดเองก็อาจสะสมและแพร่กระจายเชื้อโรคจำนวนมากได้

จากการศึกษา พบว่า 49% ของผ้าเช็ดที่เก็บจากครัวเรือนมีผลตรวจพบแบคทีเรีย เช่น โคลิฟอร์ม และเอนเทอโรคอคคัส ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และการติดเชื้อในช่องท้อง รวมถึงสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อที่ผิวหนังและในกระแสเลือด

คำแนะนำ:

  • เปลี่ยนผ้าเช็ดทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดแบบอเนกประสงค์ เช่น ใช้เช็ดมือ เช็ดจาน หรือเช็ดพื้นผิวร่วมกัน

สำหรับฟองน้ำล้างจาน พบว่ามีแบคทีเรียอีโคไล ซัลโมเนลลา และลิสทีเรีย สะสมอยู่ ควรพิจารณาเปลี่ยนมาใช้แปรงล้างจานแทน เพราะการศึกษาแสดงให้เห็นว่าแปรงล้างจานสะสมเชื้อโรคน้อยกว่าฟองน้ำล้างจาน

เลิกได้เลิก! 5 วิธีใช้ "ฟองน้ำล้างจาน" แบบผิด ๆ ที่ควรหยุดทันที รู้สาเหตุแล้วขนลุก

เตือนแล้วนะ! หาก "ชาม" ที่ใช้ในบ้าน มี 5 สัญญาณนี้ แนะนำให้ทิ้งทันที อย่าฝืนใช้ต่อ