รู้ไว้ดีกว่า! แพทย์อังกฤษเผย สัญญาณเตือนไวรัส HMPV ที่สามารถเห็นได้บน "ผิวหนัง"
แพทย์อังกฤษกระตุ้นให้ผู้คนสังเกตสัญญาณเตือนจาก HMPV ที่อาจจะถูกมองข้ามบนผิวหนัง ที่สามารถเห็นได้บนผิวหนังแนะนำวิธีสังเกตความแตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ หลังจากที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น
ไวรัสฮิวแมนเมทาพนิวโมไวรัส (HMPV) อาจแสดงอาการคล้ายกับหวัดทั่วไป แต่มันจะทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และบางครั้งอาจทำให้เกิดปัญหาทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ปอดบวม และการกำเริบของโรคหืด มันอาจทำให้สภาพของโรคต่าง ๆ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) แย่ลง
รายงานจาก The Telegraph ระบุถึงสัญญาณเตือนที่อาจบ่งบอกว่าคุณติดเชื้อ HMPV อาการหลักๆ ได้แก่ คัดจมูก ไอ จามไข้ เจ็บคอ หอบเหนื่อย และหายใจถี่ แต่หนึ่งสัญญาณที่คนไม่ค่อยรู้คือ “ผื่น” ที่ปรากฎบนผิวหนัง ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยสังเกต
ดร.ปอล ฮันเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย กล่าวว่า "มันเป็นไวรัสที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกลายพันธุ์ได้เร็วกว่า ไวรัสทุกตัวจะกลายพันธุ์และพัฒนา แต่ไข้หวัดใหญ่มักจะกลายพันธุ์เร็วที่สุด และอาการของไข้หวัดใหญ่มักจะรุนแรงกว่ามาก"
HMPV หรือไข้หวัดใหญ่? วิธีสังเกตความแตกต่างจากอาการ
การศึกษาปี 2013 พบว่าเด็กระหว่าง 5-10% ที่ติดเชื้อ HMPV มักจะมีผื่นขึ้น และแม้ว่าไวรัสนี้จะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ แต่ก็ยังมีความแตกต่างบางประการ
โดยผู้ที่ติดเชื้อ HMPV มักจะไม่รู้สึกปวดเมื่อย หรือมีอาการเจ็บปวดที่เกี่ยวข้องกับไข้หวัดใหญ่ รวมถึงไม่มีอาการเบื่ออาหารหรือคลื่นไส้ ไวรัสนี้ยังแตกต่างจากโควิด-19 ตรงที่ไม่ได้ทำให้สูญเสียรสชาติและการรับกลิ่น
ตามที่ ดร.ปอล ฮันเตอร์ วิธีเดียวที่จะรู้ว่าติดเชื้อไวรัส HMPV คือการทดสอบเชื้อ โดยแพทย์อาจสามารถเก็บตัวอย่างเชื้อจากจมูกและลำคอเพื่อตรวจสอบเหมือนกับไวรัสอื่นๆ โดยอาจทำการตรวจสอบทางหลอดลมหรือถ่ายภาพรังสีทรวงอก เพื่อดูการทำงานของระบบทางเดินหายใจด้วย
อย่างไรดี เนื่องจากอาการเริ่มต้นมักไม่รุนแรงมาก คนส่วนใหญ่จึงมักไม่ได้ตรวจ โดยอาการของ HMPV ที่ไม่รุนแรง มักจะหายภายในสัปดาห์ แต่บางอาการ เช่น ไอ อาจใช้เวลานานกว่าจะหายสนิท ทั้งนี้ หากผู้ใดสงสัยว่าตนเองติดเชื้อ HMPV ควรไปพบแพทย์หากมีอาการไข้สูงเกิน 40 องศาหายใจลำบาก หรือมีผิวหนัง ปาก หรือเล็บเป็นสีคล้ำ
คุณหมอระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มี "ยารักษา" สำหรับ HMPV โดยเฉพาะ คำแนะนำคือให้พักผ่อนให้มากที่สุด ดื่มน้ำให้เพียงพอและพยายามไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น
อย่างไรก็ดี แม้การแพร่ระบาดจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีภาพผู้คนสวมหน้ากากในจีนหลังจากที่มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยตามฤดูกาล แต่ ดร.ฮันเตอร์ ยังเชื่อว่าข่าวเกี่ยวกับการระบาดที่อาจคล้ายโควิด-19 นั้นเป็นการพูดเกินจริง
"เด็กเกือบทุกคนจะมีการติดเชื้อ HMPV อย่างน้อยหนึ่งครั้งภายในอายุ 5 ปี และเราคาดว่าจะมีการติดเชื้อซ้ำหลายครั้งตลอดชีวิต ดังนั้น โดยรวมแล้วผมคิดว่า ณ ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่บ่งชี้ถึงปัญหารุนแรงระดับโลก" ดร.ฮันเตอร์ กล่าวกับ BBC
หน่วยงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UK Health Security Agency) กล่าวว่า แนวโน้มของ HMPV ในสหราชอาณาจักรตอนนี้อยู่ใน "โรคตามฤดูกาลปกติ" โดยมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 4.5 เปอร์เซ็นต์
ในโพสต์บน X (ชื่อเดิมคือ Twitter) หน่วยงานกล่าวว่า "คุณอาจเห็นข่าวเกี่ยวกับการระบาดของไวรัส human metapneumovirus (hMPV) ในจีน เราติดตามไวรัสนี้อย่างสม่ำเสมอ และข้อมูลชี้ว่าไวรัสนี้กำลังดำเนินตามรูปแบบตามฤดูกาลปกติในสหราชอาณาจักร
hMPV เป็นเชื้อโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ RSV (Respiratory Syncytial Virus) และมีการเชื่อมโยงกับโรคหลายประเภท ตั้งแต่การติดเชื้อที่ไม่รุนแรง จนถึงโรคหลอดลมอักเสบและปอดบวมที่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายดีภายใน 2-3 สัปดาห์
วิธีการรักษา HMPV
เนื่องจาก HMPV (Human Metapneumovirus) เป็นไวรัส จึงไม่สามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะได้ เพราะยาปฏิชีวนะจะใช้ในการรักษาเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น แต่ในบางกรณี ถ้าผู้ป่วยมีการติดเชื้อปอด (pneumonia) ที่เกิดจาก HMPV และเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย (ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากไวรัส) แพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาเชื้อแบคทีเรียนั้นๆ
และเนื่องจากอาการของ HMPV คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ เช่น ไอ คัดจมูก ปวดหัว หรือไข้ จึงสามารถใช้ยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาเพื่อบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ เช่น ยาบรรเทาอาการปวด ยาลดการคัดจมูก ยากดอาการไอสิ่งเหล่านี้ช่วยบรรเทาอาการในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง แต่สำหรับผู้ที่ติดเชื้อ HMPV ครั้งแรก อาจมีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนทำให้อาจต้องการการรักษาเฉพาะทางในโรงพยาบาล
ดร.ซู ลี่ หยาง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวกับ BBC ระบุว่า เด็กเล็กและผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุและผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย อาจมีอาการรุนแรงกว่า ซึ่งผู้ที่มีอาการหนักอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล