เนื้อหาในหมวด ข่าว

เปิดตำนาน “ผ้าคลุมหน้าแดง” พิธีรักจีนที่ไม่ได้เริ่มจากรัก และแต่เดิมไม่ใช้ในงานแต่ง

เปิดตำนาน “ผ้าคลุมหน้าแดง” พิธีรักจีนที่ไม่ได้เริ่มจากรัก และแต่เดิมไม่ใช้ในงานแต่ง

เปิดตำนาน “ผ้าคลุมหน้าสีแดง” พิธีแต่งงานจีนโบราณ สัญลักษณ์แห่งความลึกลับและความหวังในชีวิตคู่

 หากพูดถึงภาพจำของงานแต่งงานจีนแบบดั้งเดิม หลายคนคงนึกถึงเจ้าสาวในชุดแดงพร้อม “ผ้าคลุมหน้าแดง” หรือ “ผ้าคลุมเจ้าสาว” ที่ปิดบังใบหน้าไว้จนกว่าจะถึงช่วงเวลาสำคัญ ที่เจ้าบ่าวจะเป็นผู้เปิดออกด้วยมือของตนเอง ท่ามกลางสายตาแห่งความยินดีของครอบครัวทั้งสองฝ่าย

แต่รู้หรือไม่? ผ้าคลุมหน้าสีแดงที่แสนโรแมนติกนี้ มีต้นกำเนิดและเบื้องหลังที่ลึกซึ้งกว่าที่คิด วันนี้ ชวนมาเปิดตำนาน “ผ้าคลุมหน้าแดง” พิธีแต่งงานจีนโบราณ สัญลักษณ์แห่งความลึกลับและความหวังใน ที่มีจุดเริ่มต้นจากการใช้งานจริง สู่เครื่องหมายแห่งพิธีมงคล

ในอดีต “ผ้าคลุมหน้า” ไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นของประดับในงานแต่ง แต่เป็นเพียงผ้าธรรมดาที่ใช้ป้องกันแดด ลม และฝุ่นละออง กระทั่งต่อมาผ้าชนิดนี้ได้รับการพัฒนาให้สวยงามขึ้น จนกลายเป็นสิ่งที่สาวๆ นิยมใช้เป็นเครื่องประดับศีรษะ

ตามบันทึกใน “ถงเตี้ยน” ระบุว่า การใช้ผ้าคลุมหน้าในพิธีแต่งงานเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก - เว่ยจิ้น (ราวคริสต์ศตวรรษที่ 2-3) ในช่วงเวลานั้น สังคมเต็มไปด้วยสงครามและความไม่สงบ ส่งผลให้พิธีแต่งงานแบบเต็มรูปแบบที่มีถึง6 ขั้นตอน ต้องถูกลดทอนเพื่อความรวดเร็ว

จึงเกิดเป็น “พิธีแต่งงานฉุกเฉิน” ที่เรียกว่า “ไป๋สือฮุน” (拜时婚) คือการใช้ผ้าคลุมหน้าเจ้าสาวแทนพิธีการทั้งหมด และเมื่อถึงบ้านเจ้าบ่าวจึงทำพิธีแต่งงานกันแบบกระชับรวบรัด

ความหมายที่ซ่อนอยู่ใน “ผ้าคลุมหน้าแดง”

แม้จะเกิดจากสถานการณ์จำเป็น แต่ธรรมเนียมการใช้ผ้าคลุมหน้าเจ้าสาวกลับได้รับความนิยมและสืบทอดต่อกันมา จนกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของพิธีแต่งงานจีนในยุคต่อมา โดยเฉพาะในราชวงศ์ถัง ซึ่งผ้าคลุมหน้ากลายเป็นอาภรณ์แฟชั่นที่มีลูกเล่นมากขึ้น เช่น การเพิ่มผ้าตาข่ายบางๆ หรือ "ตาข่ายคลุมหน้าผาก" ที่ไม่เพียงช่วยปกปิดใบหน้า แต่ยังเสริมความงามให้เจ้าสาวดูน่าค้นหามากขึ้น

นอกจากนี้ ผ้าคลุมหน้ายังมีบทบาทในการปกปิดความเขินอายของเจ้าสาว โดยเฉพาะในยุคที่การพบหน้ากันก่อนแต่งเป็นสิ่งไม่พึงกระทำ พิธีเปิดผ้าคลุมหน้าโดยเจ้าบ่าวจึงเป็นช่วงเวลาสุดพิเศษที่ทุกคนรอคอย เพราะเป็นวินาทีที่ความสวยของเจ้าสาวจะปรากฏอย่างเต็มที่เป็นครั้งแรก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่การแต่งงานถูกจัดขึ้นโดยพ่อแม่ ผ้าคลุมหน้ายังเป็นเครื่องมือที่สะท้อนค่านิยม “รู้จักกันหลังแต่ง” เจ้าบ่าวและเจ้าสาวมักไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน จนกระทั่งถึงช่วงพิธีเปิดผ้าคลุมหน้า ที่เปรียบเสมือนการเปิดประตูสู่ชีวิตคู่

ดังนั้น พิธีเปิดผ้าคลุมหน้าจึงไม่ได้มีแค่ความหมายทางพิธีกรรมเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ การละทิ้งอดีต และการเปิดใจให้กันและกันในฐานะคู่ชีวิต

ส่วน “สีแดง” ในวัฒนธรรมจีนถือเป็นสีมงคล ที่สื่อถึงความโชคดี โชคลาภ ความเจริญรุ่งเรือง ความหวัง และความสุขในชีวิตสมรส จึงไม่น่าแปลกใจที่ผ้าคลุมหน้าและชุดแต่งงานของเจ้าสาวมักใช้สีแดง เพื่อส่งพลังบวกให้กับชีวิตคู่ที่จะเริ่มต้นนั่นเอง

แม้ในยุคปัจจุบัน รูปแบบการแต่งงานจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา คู่รักชาวจีนสามารถเลือกแต่งงานแบบตะวันตก สวมชุดเจ้าสาวสีขาว หรือแม้แต่แต่งงานแบบเรียบง่าย แต่สำหรับคู่รักหลายคู่ ผ้าคลุมหน้าสีแดงก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายลึกซึ้ง เป็นการแสดงความเคารพต่อประเพณี และเป็นเครื่องเตือนใจถึงความรักที่เต็มไปด้วยความหวังและความปรารถนาดี

ดังนั้น สำหรับ “ผ้าคลุมหน้าสีแดง” ในชุดเจ้าสาวจีนนั้น อาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันเปลี่ยนแปลง แต่ความหมายยังคงเดิม