.jpg)
สมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว เมืองไทยพร้อมเป็น "ศูนย์กลางเศรษฐกิจสีชมพู" แล้วหรือยัง
ประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศที่เป็นมิตรกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA2S+) และการผ่านกฎหมาย "สมรสเท่าเทียม" ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงการเป็นประเทศที่เปิดรับความหลากหลายให้กับคนทั่วโลกได้มองเห็น อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นก้าวสำคัญ แต่ก็อาจไม่เพียงพอที่จะการันตีว่าประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเป็น "ศูนย์กลางเศรษฐกิจสีชมพู" เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีชมพูให้ยั่งยืนจำเป็นต้องมีนโยบายที่ครอบคลุมและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของประเทศ
“การเลือกปฏิบัติ” ปัญหาใหญ่ของไทย
การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งจากประชาคมโลก แต่สังคมไทก็ยังคงเผชิญกับปัญหาการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งเสนอให้ตรวจปัสสาวะนักท่องเที่ยว G-Circuit ทุกคน และขอให้ทางการไทยเตรียมคุกเพื่อคุมขังนักท่องเที่ยวให้เพียงพอ ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) เท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดวามไม่ไว้วางใจจากกลุ่ม LGBTQIA2S+ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ
การเสนอนโยบายดังกล่าวอาจกลายเป็นปัจจัยที่บ่อนทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ และทำให้ประเทศไทยถูกต้องคำถามว่าพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสีชมพูแล้วจริงหรือ
“เศรษฐกิจสีชมพู” คืออะไร
เศรษฐกิจสีชมพูคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQIA2S+ ตัวอย่างเช่น Gay Festival ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและ HORECA (โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจบริการ) โดยในช่วงสงกรานต์ปี .2567 งาน G-Circuit มีผู้เข้าร่วมกว่า 10,000 คน เงินสะพัดประมาณ 400 ล้านบาท
ทว่า แนวคิดที่กล่าวหาว่าอุตสากรรมนี้เป็นภัยต่อสังคมอาจทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ต้องหยุดชะงัก เมื่อนักลงทุนและนักท่องเที่ยว LGBTQIA2S+ ต้องการความมั่นใจว่าพวกเขาจะได้รับการต้อนรับ ไม่ใช่เพียงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ การมีทัศนคติที่ขัดแย้งกันในภาครัฐก็ทำให้เกิดคำถามว่าเศรษฐกิจสีชมพูของไทยจะเป็นโอกาสจริงหรือเป็นแค่ภาพลวงตา
นโยบายของรัฐมีผลต่อเศรษฐกิจโดยตรง
ในระดับนานาชาติ แนวคิด DEI (Diversity, Equity, and Inclusion) ยังคงได้รับการยอมรับ แม้ว่าสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของ โดนัลด์ ทรัมป์ จะยกเลิกคำสั่งฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องกับ DEI แต่สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดนี้จะหมดไปในระดับโลก องค์กรระดับนานาชาติยังคงให้ความสำคัญกับ DEI โดยเฉพาะในยุโรปและเอเชียแปซิฟิก
การที่กรุงเทพฯ ได้รับการโปรโมตว่าเป็น LGBTQIA2S+ Friendly City อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศดีขึ้น แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือประเทศไทยมีนโยบายที่เอื้อต่อกลุ่ม LGBTQIA2S+ หรืิอไม่ หรือเป็นเพียงแค่แผนการตลาดที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างแท้จริง หากภาครัฐยังมีทัศนคติที่ขัดแย้งกัน เช่น การสนับสนุนการท่องเที่ยว LGBTQIA2S+ แต่ในขณะเดียวกันก็เสนอให้ตรวจปัสสาวะนักท่องเที่ยว LGBTQIA2S+ เพื่อจับกุม นั่นหมายความว่าแนวทางของประเทศไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การเป็นมิตรกับ LGBTQIA2S+ อย่างแท้จริง
จากกรณีศึกษาระดับนานาชาติจะเห็นได้ว่านโยบายของรัฐมีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจ หากไทยต้องการใช้เศรษฐกิจสีชมพูเป็นเครื่องมือในการเติบโต กรุงเทพฯ จำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจนและมั่นคงมากกว่าการจัดงานเทศกาล ที่สำคัญกว่านั้นคือรัฐบาลต้องไม่คล้อยตามแนวทางของทรัมป์ที่ลดบทบาทของ DEI แต่ควรใช้โอกาสนี้เป็นจุดแข็งของกรุงเทพฯ ในการดึงดูดการลงทุนและสร้างความมั่นใจในภาคธุรกิจ
ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจสีชมพู แต่สิ่งที่ต้องทำไม่ใช่แค่การจัดงานเทศกาลหรือออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมเท่านั้น รัฐบาลต้องปรับปรุงกฎหมายแรงงาน LGBTQIA2S+ ลดอุปสรรคทางธุรกิจ และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างภาพลักษณ์ชั่วคราว ซึ่งหากสามารถดำเนินการในแนวทางนี้ได้ กรุงเทพฯ ก็สามารถใช้จุดอ่อนของประเทศอื่นให้เป็นจุดแข็งของตัวเอง และกลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับ LGBTQIA2S+ อย่างแท้จริง