เนื้อหาในหมวด ข่าว

\

"กรมชลประทาน" กางแผนพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดน่าน หวังแก้ปัญหาน้ำท่วม/น้ำแล้งอย่างยั่งยืน

กรมชลประทาน เดินหน้าวางแผนพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่จังหวัดน่าน หวังแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง พร้อมสร้างแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคและภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน คาดหากโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้มีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มมากขึ้นกว่า 160 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทานเพิ่มอีกกว่า 121,000 ไร่

จังหวัดน่านปัจจุบันมีลำน้ำสาขามากกว่า 60 สาย ที่ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดที่มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในด้านการเกษตรและการอุปโภคบริโภคเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม หลายพื้นที่ยังขาดระบบกักเก็บน้ำที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งสลับกันไปในแต่ละฤดูกาล โดยในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา จังหวัดน่านประสบปัญหาอุทกภัยรุนแรงจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ ในขณะเดียวกันฤดูแล้งกลับต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำ เนื่องจากแหล่งเก็บน้ำมีจำนวนน้อย และบางแห่งตื้นเขิน ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้เพียงพอ
801645_0กรมชลประทาน จึงได้วางแผนเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดน่าน ประกอบไปด้วยโครงการที่มีแผนก่อสร้างในปี 2567-2574 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ ตำบลผาทอง อำเภอท่าวังผา ผ่านการอนุมัติเห็นชอบแล้วจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างถนนทางเข้าหัวงาน และ 2.โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกอน ตำบลพญาแก้ว อำเภอเชียงกลาง ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้และนำเสนอ คณะรัฐมนตรีอนุมัติเปิดโครงการต่อไป
801644_0ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักน้ำได้รวมประมาณ 126.04 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 93,000 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่มีแผนงานก่อสร้างในปี 2570-2574 อีก 1 โครงการ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำยาว (ตะวันตก) ตำบลนาไร่หลวง อำเภอสองแคว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งหากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำได้ประมาณ 33.89 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้กว่า 28,000 ไร่ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับราษฎรในพื้นที่ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตรได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคตต่อไป