
ประวัติ "ผ่องศรี วรนุช" จากเด็กรับใช้ในคณะละครเร่ สู่ราชินีลูกทุ่งไทย
ประวัติ ผ่องศรี วรนุช ราชิลูกทุ่งคนแรกของเมืองไทย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยลูกทุ่ง-ขับร้อง) ปี 2535
ประวัติ ผ่องศรี วรนุช
ผ่องศรี วรนุช เกิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2482 เป็นบุตรีของ คุณพ่อฉาก-คุณแม่เล็ก วรนุช เริ่มต้นการร้องเพลงจากที่ได้ไปอยู่ละครเร่คณะของ หนู สุวรรณประกาศ ละครเรชื่อดังจากจังหวัดเพชรบุรี เริ่มจาก เป็นคนรับใช้ในคณะ ด้วยฐานะทางบ้านที่ยากจนจึงได้ขอสู้เอาดาบหน้า ด้วยการทำงานที่คณะละครเร่จนปีกว่า จึงได้ขึ้นมาร้องเพลง แต่ชีวิตก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องต่อสู้เรื่อยมา
เส้นทางสู่นักร้องระดับตำนานราชินีลูกทุ่ง
จากเด็กอายุ 15 ปีทำงานรับใช้ในคณะละครเร่ และได้เลื่อนขึ้นมาร้องเพลงสลับฉากและก้าวขึ้นมาเป็นนางเอกของคณะ จากนั้นจึงเริ่มอาชีพนักร้องและบันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกในชีวิต "หัวใจไม่มีใครครอง" ในปี พ.ศ. 2498
จนกระทั่งปี 2502 ผ่องศรี วรนุช ได้ร้องเพลง ไหนว่าไม่ลืม" เป็นเพลงแก้กับ สุรพล สมบัติเจริญ และเพลงนี้สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และในปี พ.ศ. 2525 ผลงานเพลงที่สร้างปรากฏการณ์มากมายมีเพลงที่โด่งดัง อาทิ เพลงด่วนพิศวาส, เพลงกอดหมอนนอนหนาว, เพลงวิมานในฝัน, เพลงน้ำตาเมียหลวง และอีกมากมาย ผ่องศรี วรนุช มีผลงานออกมาต่อเนื่องและยาวนาน จนได้สมญานามเป็น ราชินีลูกทุ่งคนแรกของเมืองไทย
จากนั้นมีผลงานด้านงานแสดง อาทิ ศึกเสือไทย ปี 2508, จำปาทอง ปี 2514, น้องนางบ้านนา ปี 2514, ลมรักทะเลใต้ ปี 2514, หาดทรายแก้ว ปี 2515, ไอ้แดง ปี 2516 และ มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. ปี 2545
ด้านรางวัลเชิดชูเกียรติ
ผ่องศรี วรนุช ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยลูกทุ่ง - ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2535 และได้รับรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ 2 ครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2509, รางวัลเสาอากาศทองคำ 3 ปีซ้อน เมื่อ พ.ศ. 2518
ด้านชีวิตครอบครัว
ชีวิตครอบครัว ผ่องศรี วรนุช เคยใช้ชีวิตอยู่กับ วัลลภ วิชชุกร และ เทียนชัย สมยาประเสริฐ นักร้องนักประพันธ์เพลงลูกทุ่งชื่อดัง ก่อนที่จะแยกทางกัน จากนั้นได้ใช้ชีวิตอยู่กินกับ ราเชนทร์ เรืองเนตร นักดนตรีชื่อดัง จน ราเชนทร์ เสียชีวิตไปเมื่อ พ.ศ. 2541 โดยไม่มีทายาท
และ ผ่องศรี วรนุช ได้สร้างพิพิธภัณฑ์ ผ่องศรี วรนุช เพื่อจัดแสดงประวัติและผลงานของเธอ และรับงานร้องเพลงเป็นครั้งคราวเพื่อการกุศล
ในช่วงบั้นปลายชีวิต ผ่องศรี วรนุช มีข่าวอาการป่วยจากภาวะปอดอักเสบรุนแรงเข้ารักษาตัวโรงพยาบาลมาหลายครั้ง ก่อนที่จะเสียชีวิตอย่างสงบในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2568 สิริอายุ 85 ปี