.jpg)
แรงกดดันรอบทิศ! โพลชี้ประชาชนไม่เชื่อมั่นรัฐบาล เชื่อหลังสงกรานต์มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่
หลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ที่หลายคนได้หยุดพัก ก็ถึงเวลาจับตามองข่าวการเมืองอีกครั้ง โดยสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (Super Poll) เปิดเผยผลสำรวจล่าสุดจากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,102 คน ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ 10–14 เมษายน 2568 พบว่า 74.2% ของผู้ตอบแบบสอบถาม “เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง” ในช่วงหลังสงกรานต์ ขณะที่มีเพียง 25.8% เท่านั้นที่เชื่อว่า “จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”
เมื่อถามถึง “สาเหตุ” ที่อาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พบว่า
- ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลเป็นอันดับ 1 (36.9%)
- รองลงมาคือการปลุกปั่นจากคนใกล้ชิดผู้นำ (30.6%)
- กระแสในโซเชียลมีเดียตามมาติดๆ เป็นอันดับที่ 3 (27.8%)
- อันดับที่ 4 คือปัญหาเศรษฐกิจ (20.5%)
- นโยบายไม่โดนใจ เช่น กาสิโน ความเหลื่อมล้ำ และการเลือกปฏิบัติ (14.9%) มาเป็นอันดับที่ 5
ข้อมูลนี้สะท้อนว่า แรงกดดันไม่ได้มาจากฝ่ายตรงข้ามเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงแรงสั่นสะเทือนจากภายในรัฐบาลและความรู้สึกของประชาชนทั่วไปด้วย
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ว่าประชาชนคาดการณ์ว่าในช่วงหลังสงกรานต์ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้
- การปรับคณะรัฐมนตรี (38.4%)
- ความแตกร้าวระหว่างพรรคร่วม (37.6%)
- การเคลื่อนไหว/ชุมนุมทางการเมือง (32.1%)
- การยุบสภา (27.5%)
- กระแสเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (19.2%)
ในขณะที่มีเพียง 25.6% ที่เชื่อว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยในหมู่ผู้ตอบแบบสอบถาม
ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการซูเปอร์โพล ชี้ว่า ทางรอดของรัฐบาลคือต้องสร้างเอกภาพและความร่วมมือในพรรคร่วม โดยยกตัวอย่างแนวทางของรัฐบาลผสมในเยอรมันและญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในการลดความขัดแย้งและเพิ่มความน่าเชื่อถือผ่านการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ หากไม่มีการประสานนโยบายอย่างจริงจัง รัฐบาลไทยอาจต้องเผชิญ “แรงกระแทก” ครั้งใหญ่ที่ส่งผลต่อเสถียรภาพทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ