เนื้อหาในหมวด ข่าว

ยาวไปเพื่อน! นักวิทย์ทึ่ง \

ยาวไปเพื่อน! นักวิทย์ทึ่ง "ลิงชิมแปนซี" มีพฤติกรรมตั้งวงก๊งแอลกอฮอล์เหมือนมนุษย์

การกินดื่มร่วมกันระหว่างเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวเป็นกิจกรรมที่มนุษย์ทำมาเป็นเวลาหลายพันปี เพื่อผ่อนคลายและเสริมสร้างความสัมพันธ์ ล่าสุด นักวิจัยพบว่า ลิงชิมแปนซีเองก็มีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยแบ่งปันผลไม้ที่มีแอลกอฮอล์กันภายในฝูง

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ สหราชอาณาจักร ได้ทำการติดตั้งกล้องเพื่อสังเกตพฤติกรรมของลิงชิมแปนซีในอุทยานแห่งชาติคันตันเฮซ ประเทศกินีบิสเซา และพบว่าชิมแปนซีบางตัวมีการแบ่งปัน "ผลสาเก" (Breadfruit) ซึ่งมีปริมาณแอลกอฮอล์ในระดับต่ำจากการหมักธรรมชาติ

แอลกอฮอล์ในผลไม้เหล่านี้มีระดับสูงสุดที่ 0.61% ABV มากพอที่จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่ไม่ถึงขั้นมึนเมา นักวิจัยพบพฤติกรรมการแบ่งปันผลไม้ดังกล่าวถึง 10 ครั้ง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะโดยปกติชิมแปนซีจะไม่แบ่งปันอาหารกันเป็นกิจวัตร

แอนนา โบว์แลนด์ จากศูนย์นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ กล่าวว่า "ในมนุษย์ เรารู้ดีว่าแอลกอฮอล์กระตุ้นการหลั่งสารโดปามีนและเอนดอร์ฟิน ทำให้รู้สึกมีความสุขและผ่อนคลาย เช่นเดียวกับการดื่มในงานเฉลิมฉลองที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม"

"สิ่งที่น่าสนใจคือ ตอนนี้เราพบว่าชิมแปนซีในธรรมชาติก็มีพฤติกรรมคล้ายกันกับการบริโภคและแบ่งปันผลไม้ที่มีเอทานอล คำถามคือ พวกมันจะได้รับผลทางสังคมหรือผลทางอารมณ์จากพฤติกรรมนั้นด้วยหรือไม่?" เธอกล่าวเสริม
gettyimages-185763300คิมเบอร์ลีย์ ฮอกกิงส์ นักวิจัยร่วม ระบุว่า แม้ปริมาณแอลกอฮอล์จะต่ำ แต่เมื่อพิจารณาว่าชิมแปนซีกินผลไม้เหล่านี้ในปริมาณมาก ก็อาจเปรียบได้กับมนุษย์ที่ดื่มเบียร์เบาๆ "พวกมันสามารถกินผลสาเกได้หลายกิโลกรัมในแต่ละวัน"

ทีมนักวิจัยยังสังเกตว่าพฤติกรรมแบ่งปันนี้เกิดขึ้นในชิมแปนซีหลากหลายเพศและวัย เช่น ชิมแปนซีเพศเมียโตเต็มวัยสองตัวชื่อ "ชิป" และ "อาเต" ที่มักเลือกผลสาเกขนาดเล็กแทนลูกใหญ่ ขณะที่ชิมแปนซีเพศผู้บางตัว เช่น "มันจัมเบ" และ "แกรี" มีพฤติกรรมแสดงอำนาจเหนือกันขณะเข้าใกล้ผลไม้

งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology ภายใต้หัวข้อ "การแบ่งปันผลสาเกในลิงชิมแปนซีป่า" พร้อมตั้งคำถามถึงรากฐานพฤติกรรมการกินดื่มของมนุษย์ว่าอาจมีต้นกำเนิดจากบรรพบุรุษร่วมกับลิง

ฮอกกิงส์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "เรายังต้องค้นคว้าเพิ่มเติมว่า ชิมแปนซีแสวงหาผลไม้ที่มีแอลกอฮอล์โดยตั้งใจหรือไม่? และร่างกายของพวกมันจัดการกับแอลกอฮอล์อย่างไร? เพราะหากสิ่งเหล่านี้เป็นวิวัฒนาการเบื้องต้นของพฤติกรรมการกิน ก็อาจหมายความว่า พฤติกรรมบางอย่างของมนุษย์มีรากเหง้ามาจากอดีตอันไกลโพ้นของสายพันธุ์เดียวกัน"