
นักวิทยาศาสตร์อ้างว่าค้นพบ "สีใหม่" ที่ไม่เคยมีมนุษย์คนใดเห็นมาก่อน
เว็บไซต์ BBC รายงาน ทีมนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งในสหรัฐฯ อ้างว่า พวกเขาค้นพบ "สีใหม่" ที่ไม่มีมนุษย์คนใดเคยเห็นมาก่อน
การค้นพบนี้มาจากการทดลองที่นักวิจัยยิงพัลส์เลเซอร์เข้าไปในดวงตาของผู้เข้าร่วม เพื่อกระตุ้นเซลล์เฉพาะในจอตา (retina) และพบว่าสามารถกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมมองเห็นสีแปลกใหม่คล้ายฟ้า-เขียว ที่ไม่เคยมีการรับรู้มาก่อน โดยพวกเขาตั้งชื่อให้กับสีนี้ว่า "โอโล" (olo) แม้จะมีผู้เชี่ยวชาญบางรายที่มองว่า การค้นพบสีใหม่นั้นยัง "ถกเถียงได้"
ผลการศึกษานี้ถูกเผยแพร่ในวารสาร Science Advances เมื่อวันศุกร์ที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา โดยหนึ่งในผู้เขียนงานวิจัย ศาสตราจารย์เรน อึ้ง (Prof. Ren Ng) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่านี่คือ "สิ่งที่น่าทึ่งมาก"
เขาและเพื่อนร่วมทีมเชื่อว่าผลการวิจัยนี้อาจนำไปสู่ความก้าวหน้าในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาวะตาบอดสี
ศ.เรน อึ้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการทดลอง กล่าวในรายการ Today ของ BBC Radio 4 ว่า "โอโล" เป็นสีที่ "มีความอิ่มตัวมากกว่าสีใดๆที่คุณเคยเห็นในโลกแห่งความเป็นจริง"
เขาเปรียบเทียบว่า "สมมุติว่าคุณใช้ชีวิตมาทั้งชีวิต เห็นแต่สีชมพูแบบพาสเทล แล้ววันหนึ่งมีคนใส่เสื้อที่เป็นชมพูเข้มสุดๆ จนคุณรู้สึกว่า -นี่มันสีใหม่เลยนะ- แล้วพวกเขาก็บอกว่านี่คือสีที่เรียกว่า -แดง-"
การทดลอง
นักวิจัยใช้ลำแสงเลเซอร์ยิงเข้าสู่รูม่านตาข้างหนึ่งของผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 5 คน (ชาย 4 คน หญิง 1 คน) ซึ่งทุกคนมีการมองเห็นสีเป็นปกติ โดยในนั้นมี 3 คนที่ร่วมเป็นผู้เขียนงานวิจัยด้วย
ผู้เข้าร่วมมองเข้าไปในอุปกรณ์ที่เรียกว่า "Oz" ซึ่งประกอบด้วยกระจก เลเซอร์ และอุปกรณ์แสงอื่นๆที่พัฒนาขึ้นโดยทีมจาก UC Berkeley และมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เพื่อการศึกษาครั้งนี้โดยเฉพาะ
จอตา (retina) คือเนื้อเยื่อไวแสงที่อยู่ด้านหลังของดวงตา ทำหน้าที่แปลงแสงเป็นสัญญาณไฟฟ้า ส่งผ่านเส้นประสาทตาไปยังสมอง ทำให้เรามองเห็นได้
ภายในจอตามีเซลล์รูปกรวย (cone cells) ซึ่งทำหน้าที่รับรู้สี โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ S, M และ L ซึ่งตอบสนองต่อความยาวคลื่นของสีฟ้า เขียว และแดง ตามลำดับ
โดยทั่วไปแล้ว "หากเซลล์ M ถูกกระตุ้น มันจะกระตุ้นเซลล์ L หรือ S ที่อยู่ใกล้เคียงด้วยเสมอ" แต่ในงานวิจัยนี้ เลเซอร์สามารถกระตุ้นเฉพาะเซลล์ M ได้เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะส่งสัญญาณสีไปยังสมองในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นตามธรรมชาติ นั่นทำให้เกิดการรับรู้สี "โอโล" ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ในชีวิตจริงหากไม่มีการกระตุ้นเฉพาะแบบนี้
เพื่อยืนยันสิ่งที่เห็น ผู้เข้าร่วมการทดลองต้องหมุนแป้นควบคุมสีไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้เฉดสีที่ใกล้เคียงกับ "โอโล" ที่พวกเขาเห็นจากการทดลอง
สีในภาพเป็นเฉดที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าใกล้เคียงที่สุดกับที่เห็นในการทดลอง
แต่ยังมีข้อโต้แย้ง
แม้จะเป็นการค้นพบที่ดูน่าตื่นเต้น แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายยังไม่เห็นด้วยทั้งหมด ศาสตราจารย์จอห์น บาร์เบอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิสัยทัศน์จากมหาวิทยาลัย St George’s, London ซึ่งไม่ได้ร่วมในการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่า แม้การกระตุ้นเซลล์รูปกรวยเฉพาะนั้นถือเป็น "ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี" แต่การอ้างว่าค้นพบสีใหม่นั้น "ยังสามารถถกเถียงกันได้"
เขายกตัวอย่างว่า หากมีการกระตุ้นเซลล์กรวยที่ไวต่อสีแดง (L) จำนวนมาก เราอาจมองเห็น "แดงเข้ม" ขึ้นมา แต่ความสว่างที่รับรู้อาจเปลี่ยนไปตามความไวของเซลล์ ซึ่งไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในงานวิจัยนี้
แม้จะยังมีข้อสงสัย ศ.เรน อึ้ง ก็ยอมรับว่า การมองเห็น "โอโล" เป็นสิ่งที่ "ยากมากในเชิงเทคนิค" แต่ทีมงานกำลังศึกษาต่อไปว่าค้นพบนี้จะสามารถช่วยผู้ที่มีภาวะตาบอดสี ซึ่งมีปัญหาในการแยกแยะสีบางสี ได้อย่างไรในอนาคต