.jpg)
ใส่อาหารร้อนในกล่องโฟม? จดและจำ 5 ข้อง่ายๆ คนกินปลอดภัย ไม่เสี่ยงมะเร็ง!
อย่าคิดว่าแค่สะดวก! ใส่อาหารร้อนใน "กล่องโฟม" อาจเป็นต้นเหตุของโรคร้ายแบบไม่รู้ตัว เปิดข้อเท็จจริงที่คนกินควรรู้
ในยุคที่การสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของใครหลายคน "กล่องโฟม" หรือกล่องอาหารพลาสติกชนิดโพลิสไตรีน (Polystyrene) มักเป็นบรรจุภัณฑ์ยอดนิยมของร้านอาหาร เพราะราคาถูก น้ำหนักเบา และสะดวกต่อการใช้งานแบบใช้แล้วทิ้ง
แต่รู้หรือไม่ว่า การใช้งานกล่องโฟมอย่างผิดวิธี หรือการใช้กล่องโฟมที่ผลิตจากวัสดุคุณภาพต่ำ อาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายสู่ร่างกาย?
กล่องโฟมทำจากอะไร? เว็บไซต์ SOHA รายงานตามข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเวียดนาม ระบุว่า กล่องโฟมผลิตจากพลาสติกชนิดโพลิสไตรีน (Polystyrene) ซึ่งมีส่วนประกอบหลักคืออากาศถึง 95% ส่วนอีก 5% เป็นสารโพลิสไตรีน ทำให้มีคุณสมบัติน้ำหนักเบาและเก็บความร้อนได้ดี จึงนิยมใช้สำหรับบรรจุอาหารทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม แม้โพลิสไตรีนที่มีคุณภาพจะถือว่าปลอดภัย หากผลิตจากวัสดุไม่บริสุทธิ์ หรือมีสิ่งปนเปื้อน เช่น ตะกั่ว แคดเมียม หรือใช้สารเติมแต่งต้องห้าม อาจก่อให้เกิดการปล่อยสารพิษอย่าง สไตรีน (Styrene) และ เอทิลเบนซีน (Ethylbenzene) เมื่อสัมผัสกับความร้อนสูง ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว เช่น ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ และอาจมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง
เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการใช้กล่องโฟม ควรปฏิบัติตามคำแนะนำวิธีใช้กล่องโฟมอย่างปลอดภัยเหล่านี้
ใช้เฉพาะกล่องโฟมที่มีแหล่งผลิตชัดเจน ได้มาตรฐานความปลอดภัย
หลีกเลี่ยงการใส่อาหารร้อนจัด น้ำมันเยอะ หรืออาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว
ไม่ควรใช้กล่องโฟมอุ่นอาหารในไมโครเวฟ
ควรใช้เพียงครั้งเดียว ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ
ไม่ควรเก็บอาหารไว้ในกล่องโฟมนานเกินไป โดยเฉพาะอาหารที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส
ในฝั่งของผู้ผลิต กล่องโฟมที่ใช้สัมผัสอาหารโดยตรงนั้น ห้ามใช้วัสดุรีไซเคิลหรือสารเติมแต่งต้องห้ามในการผลิต และต้องมีฉลากระบุวิธีใช้ที่ชัดเจน เช่น อุณหภูมิที่เหมาะสมหรือประเภทอาหารที่ไม่ควรใส่ หากพบการกระทำผิด จะมีบทลงโทษตามกฎหมาย
ท้ายที่สุดจะเห็นว่า กล่องโฟมยังสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย หากเลือกใช้จากแหล่งที่เชื่อถือได้ และหลีกเลี่ยงการใส่อาหารที่ร้อนหรือมีฤทธิ์เป็นกรดมากเกินไป เพื่อป้องกันการสะสมของสารเคมีอันตรายในร่างกาย
- กราบเคล็ดลับ ต่างชาติสอนวิธีใส่ "ถุงมือพลาสติก" ไม่หลุด ไม่เลอะ ไม่ต้องพึ่งหนังยางรัด!
- อย่าซื้อ! ถุงเท้า 4 ประเภทนี้ ระวัง “แฝงสารพิษ” เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก