
ขมิ้นชันร่องสวน อาชีพเสริมที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
กลุ่มเกษตรกรตัวอย่างในอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ได้ใช้พื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ปลูกขมิ้นและพืชสมุนไพรร่องสวน เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งโอกาสและความหวังให้กับชุมชน นำโดยนางทัศวัชภกรฒ์ สาเลศ หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพร อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสร้างรายได้เสริม และส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิกในชุมชน รวมถึงผู้ผ่านการบำบัดสารเสพติดในพื้นที่
การดำเนินงานเริ่มต้นจากแนวคิดการปลูกกัญชาทางการแพทย์ แต่เนื่องด้วยเหตุจากภัยธรรมชาติ โรงเรือนถูกพายุพัดพังเสียหาย ส่งผลให้กลุ่มต้องเปลี่ยนแนวทางมาปลูกพืชสมุนไพรพื้นถิ่นแทน อาทิ ขมิ้นชัน ตะไคร้ ข่า มะกรูด มะนาว และไพร บนพื้นที่ ส.ป.ก. รวมกว่า 40 ไร่นี้ ถูกจัดสรรอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วยแปลงปลูกพืชสมุนไพร สวนทุเรียน สวนยางพารา บ่อเลี้ยงปลา และพื้นที่ทำนา โดยเกษตรกรใช้วิธีการเกษตรอินทรีย์ 100% มีการผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง โดยผสมแกลบดำและแกลบสด พร้อมเติมสารเร่งชีวภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทุกชนิดนางทัศวัชภกรฒ์ สาเลศ หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพร กล่าวว่า การปลูกขมิ้นชันและพืชสมุนไพรดังกล่าว ไม่เพียงสร้างรายได้ให้เกษตรกรในกลุ่ม แต่ยังเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับผู้บำบัดยาเสพติดในชุมชน ผ่านการฝึกอบรมอาชีพเกษตรกรรม การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการจัดจำหน่าย เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปต่อยอดประกอบอาชีพได้ในอนาคต ซึ่งขมิ้นชันที่ปลูกจะเก็บเกี่ยวในฤดูหนาวช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หัวขมิ้นมีน้ำมันหอมระเหยสูง และมีสารกลูโคซามีนเข้มข้น เหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น ผงขมิ้นสำหรับบรรจุแคปซูลเพื่อสุขภาพ ช่วยบรรเทาอาการกระเพาะอาหารอักเสบ และผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม เช่น สบู่สมุนไพรขมิ้นชัน ซึ่งมีสรรพคุณช่วยลดผื่นแพ้ สมานผิว และบำรุงผิวพรรณ สำหรับกระบวนการแปรรูปสบู่สมุนไพรขมิ้นชัน สมาชิกในกลุ่มจะใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ผสมกับสารสกัดขมิ้นชันที่ผลิตเอง ผ่านกระบวนการผลิตแบบมาตรฐาน ก่อนนำมาบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน พร้อมจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของกลุ่มเอง กลุ่มของเรามีแนวคิดที่จะทำเกษตรอย่างพอเพียง ปลูกเพื่อกิน เพื่อใช้ และเมื่อมีมากพอจึงค่อยนำออกจำหน่าย ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ด้วยความพยายาม และการร่วมมือของทุกคนในชุมชน กลุ่มเกษตรกรยังมีการเปิดตลาดสีเขียวภายในโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภคโดยตรง อาทิ ผักสดสมุนไพรพื้นบ้าน เช่น ผักกูด ขิง ตะไคร้ หอม กระเทียม ตลอดจนผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ ที่ผลิตโดยสมาชิกในกลุ่ม
แนวทางการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพร อำเภอบุณฑริก นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ส.ป.ก. อย่างคุ้มค่า สามารถสร้างรายได้เสริม เพิ่มความมั่นคงในชีวิต และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยอาศัยหลักคิด "ทำเพื่ออยู่ เพื่อแบ่งปัน" มากกว่าการทำเพื่อแสวงหากำไร เพื่อประโยชน์สูงสุดในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง