(2).jpg)
มีมในตำนานของจีน แม่นั่งคุมลูกชายทำการบ้าน ผ่านไป 34 ปี ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
ภาพแม่นั่งคุมลูกชายขณะทำการบ้าน กลายเป็นไวรัลทั่วโซเชียล ผ่านไป 34 ปี สองแม่ลูกกลับมาร่วมทำสิ่งพิเศษด้วยกันอีกครั้ง
ในปี 1991 ที่ประเทศจีน มีภาพถ่ายหนึ่งที่ดูเหมือนจะธรรมดา แต่กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของแรงกดดันทางการศึกษา และความรักอันเงียบงันของพ่อแม่ ภาพนั้นบันทึกช่วงเวลาหนึ่งในฤดูร้อนที่ร้อนอบอ้าวของนครเซี่ยงไฮ้ แม่วัยสาวนั่งบนเก้าอี้ สวมชุดเดรส กำลังถักไหมพรมไปด้วย ขณะจับตามองสมุดของลูกชายอย่างไม่วางตา
เด็กชายตัวเปลือยท่อนบนเพราะอากาศร้อน ถึงกับวางขาข้างหนึ่งบนตักแม่ เป็นท่าทีที่เหมือนพยายามหลบเลี่ยงการจับจ้องของแม่ แต่ขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นความขัดขืนอย่างไร้เดียงสา ภาพนั้นถ่ายทอดอารมณ์อย่างเป็นธรรมชาติ ท่ามกลางฉากหลังของบ้านธรรมดา แต่มากไปด้วยความหมาย
ช่วงเวลาในภาพนั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาพถ่ายชีวิตประจำวันธรรมดา แต่มันสะท้อนยุคสมัยหนึ่งของสังคมจีน ยุคที่การศึกษาและการสอบเข้าเรียนสูงถือเป็นหนทางแทบจะเดียวในการเปลี่ยนแปลงชีวิต พ่อแม่จำนวนมากยอมเสียสละเงียบ ๆ ทั้งสุขภาพ การพักผ่อน และความรู้สึก เพื่อประคับประคองลูกให้ “เป็นคนเก่ง เป็นคนดี”
แม่ในภาพเคยตะโกนใส่ลูกว่า “รีบทำการบ้านสิลูก” ประโยคที่ไม่ใช่แค่คำเร่งเร้า แต่ยังเป็นการระบายความกังวลและความเหนื่อยล้าสะสม จากวันที่ต้องอยู่เคียงข้างลูกในเส้นทางการศึกษาที่ยากลำบาก
3 ทศวรรษผ่านไป เด็กชายในวันนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เรียนมหาวิทยาลัย และเคยไปศึกษาต่อที่อินเดียด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัจจุบันทำงานอยู่ในประเทศจีน ส่วนแม่ผู้เคยเข้มงวด วันนี้แก่เฒ่าแล้ว ผมเริ่มแซมขาว
ไม่นานมานี้ ทั้งสองได้ถ่ายภาพร่วมกันอีกครั้ง แม่ในเสื้อสีแดง ลูกชายใส่แว่น นั่งเคียงกัน โดยมีภาพถ่ายในอดีตเป็นฉากหลัง มือที่จับกันในภาพใหม่ ไม่เพียงสื่อถึงความรักระหว่างแม่ลูกเท่านั้น หากยังเป็นสัญลักษณ์ของความเข้าใจที่เชื่อมโยงระหว่างคนสองรุ่น ระหว่างความคาดหวังในวัยเด็ก กับความเป็นจริงของชีวิตในปัจจุบัน
เรื่องราวนี้ไม่เพียงพาเราย้อนนึกถึงยุคการศึกษาที่เต็มไปด้วยแรงกดดัน แต่ยังเป็นเครื่องเตือนใจถึงการเสียสละอย่างเงียบงันของพ่อแม่ทั่วโลก
การนั่งสอนลูกทำการบ้าน ไม่ใช่แค่การใช้เวลาเท่านั้น แต่มันกัดกร่อนทั้งร่างกายและจิตใจ พ่อแม่ต้องสวมบทบาทหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เป็นทั้งครู เพื่อน ตำรวจ และบางครั้งก็กลายเป็นที่ระบายอารมณ์ของลูก ในทุกลมหายใจลึก ๆ ทุกคิ้วที่ขมวด ทุกคำดุว่า ล้วนมีพื้นฐานมาจากความรักอันลึกซึ้ง
“ภาพถ่ายที่ถูกถ่ายซ้ำในอีก 34 ปีต่อมา ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการศึกษาในประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพแทนความพากเพียร ความรัก และการเสียสละอย่างเงียบงันของพ่อแม่หลายล้านคนทั่วโลก เป็นถ้อยคำขอบคุณแทนใจ แด่ผู้ที่เคยนั่งเคียงข้างลูก จับมือลูกเขียนตัวอักษรแรกในชีวิต และเคยกังวลจนนอนไม่หลับเพียงเพราะการสอบของลูก” สื่อจีนกล่าวไว้