.jpg)
ปู่มหาเศรษฐีตาย ทิ้งมรดก 300 ล้าน ลูกหลานที่เป็น 'ผู้หญิง 'แบ่งกันได้คนละ 3 หมื่นบาท!
ดราม่ามรดกร้อยล้านของปู่! ยกให้แต่ลูกชาย-หลานชาย ส่วนลูกสาว-หลานสาว ปู่ให้ 1.8 แสนบาท เอาไปหารกัน
เรื่องราวชวนอึ้งนี้เกิดขึ้นที่เมืองไถหนาน ประเทศไต้หวัน เมื่อเจ้าของที่ดินรายใหญ่รายหนึ่งเสียชีวิตลง พร้อมทิ้งทรัพย์สินมหาศาลมูลค่ากว่า 3 ร้อยล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 346 ล้านบาท) เอาไว้ โดยมีการทำพินัยกรรมระบุชัดว่า ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของลูกชายหนึ่งคน และหลานชาย (ลูกชายของลูกชายอีกคนที่เสียชีวิตไปแล้ว) เท่านั้น ส่วนลูกสาวทั้ง 4 คน และหลานสาวอีก 2 คน กลับได้รับมรดกรวมเพียงแค่ 156,787 ดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 181,265 บาท) เท่านั้น
หนึ่งในลูกสาวที่ได้รับมรดกเพียงน้อยนิด ไม่พอใจกับการจัดสรรนี้อย่างมาก จึงตัดสินใจยื่นฟ้องศาลเพื่อเรียกร้อง ส่วนแบ่งมรดกขั้นต่ำตามกฎหมายไต้หวัน หรือที่เรียกว่า "สัดส่วนสงวน (Reserved Portion)" โดยอ้างว่าตนควรจะได้รับมรดกไม่ต่ำกว่า 21,516,345 ดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 24.9 ล้านบาท) จากกองมรดกทั้งหมด
รายละเอียดการแบ่งมรดกตามพินัยกรรม
- ลูกชาย 1 คน และหลานชาย 1 คน (ลูกชายของลูกชายที่เสียชีวิต): แบ่งทรัพย์สินทั้งหมด คนละครึ่ง จากมรดก 300 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (346 ล้านบาท)
- ลูกสาว 4 คน และหลานสาว 2 คน: ได้รับเงินรวมกัน 156,787 ดอลลาร์ไต้หวัน (181,265 บาท)
- เฉลี่ยแล้วแต่ละคนในกลุ่มลูกสาวและหลานสาว ได้รับคนละ 31,357 ดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 36,240 บาท)
ผลการพิจารณาคดี
ศาลชั้นต้นของเมืองไถหนานตัดสินไม่รับคำร้องของลูกสาวคนดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า แม้พินัยกรรมจะละเมิดสิทธิ์ในส่วนแบ่งขั้นต่ำ แต่ลูกสาวได้ใช้วิธีส่งจดหมายอย่างเป็นทางการไปแจ้งความต้องการแล้ว ถือว่าเป็นการใช้สิทธิ์แล้ว ทรัพย์สินที่ควรได้จึงนับว่ายังอยู่ในกองมรดก ไม่สามารถเรียกคืนจากทายาทที่ได้รับทรัพย์ไปได้โดยตรง ทำให้คำร้องของเธอถูกปัดตก
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์กลับเห็นว่าคดีนี้มีข้อผิดพลาดทางกระบวนการอย่างร้ายแรง เพราะศาลชั้นต้นไม่เปิดการไต่สวนอย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังมีกรณีตัวอย่างในอดีตที่ศาลเคยมีคำสั่งให้ผู้ได้รับมรดกต้องจ่ายเงินคืนเพื่อให้ครบตามสิทธิ์ของผู้ร้อง จึงตัดสินให้ ยกเลิกคำตัดสินเดิม และส่งเรื่องกลับไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง
คดีนี้จึงยังไม่ถึงที่สุด และกลายเป็นที่จับตาในสังคมไต้หวันอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นความเท่าเทียมทางเพศในการรับมรดก และสิทธิของลูกสาวในระบบครอบครัวที่ยังมีรากความคิดชายเป็นใหญ่ฝังลึกอยู่
ที่มา: ettoday.net