.jpg)
หมอป่วยเอง 3 ครั้ง ขอเตือน 1 อาหารที่มี "สารก่อมะเร็ง" ระดับเดียวกับบุหรี่-แอลกอฮอล์!
หมอผู้เคยป่วยมะเร็ง 3 ครั้ง เผยในหนังสือใหม่ เตือน 1 อาหาร ที่มีหลักฐานชัดเจน "สารก่อมะเร็ง" ระดับเดียวกับบุหรี่-แอลกอฮอล์!
ดร.ลิซ โอ’รีออร์แดน (Dr. Liz O'Riordan) อดีตศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านเต้านม และผู้ที่เคยต่อสู้กับโรคมะเร็งถึง 3 ครั้ง เปิดเผยข้อมูลสำคัญในหนังสือเล่มใหม่ของเธอ The Cancer Roadmap ระบุว่า “เนื้อแปรรูป” เป็นอาหารที่มีหลักฐานแน่ชัดว่าก่อให้เกิดมะเร็ง โดยจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับบุหรี่และแอลกอฮอล์ ตามการจัดประเภทขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ดร.โอ’รีออร์แดนกล่าวว่า “เนื้อแปรรูปได้รับการจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 (Group 1 Carcinogen) ซึ่งหมายความว่ามีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่” อย่างไรก็ตาม เธอย้ำว่าการอยู่ในกลุ่มเดียวกับบุหรี่และแอลกอฮอล์ไม่ได้แปลว่าอันตรายเท่ากัน แต่เป็นการระบุว่า "มีหลักฐานแน่ชัด" ว่าสิ่งนั้นก่อมะเร็งจริง
เนื้อแปรรูปคืออะไร? คือเนื้อสัตว์ที่ผ่านการหมัก เกลือ บ่มรมควัน หรือเติมสารกันบูด เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน ชอริโซ่ ซาลามี่ และอาหารกระป๋องอย่างคอร์นบีฟ ซึ่งสารที่เติมลงไป เช่น สารไนไตรต์ มีคุณสมบัติก่อมะเร็งเช่นกัน
ข้อมูลจากระบบสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (NHS) ยังระบุว่า เนื้อแปรรูปครอบคลุมถึงพาเต้ ไส้กรอก แฮม และเนื้อที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหารต่างๆ ซึ่งล้วนมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมะเร็งลำไส้ตรง
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน International Journal of Epidemiology ปี 2020 พบว่า ผู้ที่บริโภคเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปเป็นประจำ แม้ในปริมาณปานกลาง ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดมะเร็งลำไส้ อีกทั้งงานวิจัยจากศูนย์มะเร็ง USC Norris Comprehensive Cancer Center ในปี 2024 ยังพบว่า ผู้ที่รับประทานเนื้อแดงหรือเนื้อแปรรูปบ่อยครั้ง มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้น 30-40% ตามลำดับ
สัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ควรสังเกต (หากมีอาการเหล่านี้ต่อเนื่องเกิน 3 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ทันที)
-
การขับถ่ายเปลี่ยนไป เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรือถ่ายอุจจาระบ่อยผิดปกติ
-
มีเลือดปนในอุจจาระ
-
ปวดท้อง ท้องอืด น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
-
รู้สึกเหนื่อยง่าย หรือหายใจถี่
ควรรับประทาน "เนื้อแปรรูป" อย่างไร? ดร.โอรีออร์แดน เน้นว่า ไม่จำเป็นต้องเลิกบริโภคเนื้อแปรรูปทั้งหมด แต่ควร "จำกัดความถี่และปริมาณ" ที่บริโภคในแต่ละมื้อ ขณะที่คำแนะนำจาก NHS ระบุว่า หากรับประทานเนื้อแดงหรือเนื้อแปรรูปมากกว่า 90 กรัมต่อวัน ควรลดลงเหลือไม่เกิน 70 กรัมต่อวัน เพื่อความปลอดภัย
ท้ายที่สุดแม้เนื้อแปรรูปจะเป็นอาหารที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่ามีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้อย่างชัดเจน การบริโภคอย่างมีสติและในปริมาณที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพระยะยาว
- กูรูสหรัฐฯ พูดชัด 1 อาหารที่ "ไม่มีวันกิน!!!" เพราะแบคทีเรียเยอะมาก แต่คนไทยยังกินอยู่
- ชายไม่ดื่ม-ไม่สูบ นอนตัวเหลืองรอ "เปลี่ยนตับ" หมอชี้ต้นเหตุ "น้ำโปรด" ที่ไม่ใช่เหล้าเบียร์!