เนื้อหาในหมวด ข่าว

หมอเปิด 4 ปัจจัยกระตุ้น \

หมอเปิด 4 ปัจจัยกระตุ้น "มะเร็งก่อนวัย" คนวัย 20 กว่า ก็อาจเป็น "เหยื่อ" ได้

ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ หมอเผย 4 ปัจจัยกระตุ้น ที่ทำให้มะเร็งมาเยือนก่อนวัย คนวัย 30-40 หรือ 20 กว่า ก็อาจเป็น “เหยื่อ” ได้เช่นกัน

ตามคำบอกของ นายแพทย์เหงียน ดุย อันห์ อดีตแพทย์ศูนย์มะเร็งวิทยาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลบั๊กมาย แพทย์ศูนย์มะเร็งวิทยา รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์นานาชาติ ประเทศเวียดนาม ปัจจุบันมะเร็งไม่ใช่โรคเฉพาะผู้สูงอายุอีกต่อไป แต่กำลังมีแนวโน้ม “เกิดกับคนอายุน้อย” วัย 30–40 ปี หรือแม้แต่ 20 ปี ก็เสี่ยงเป็นมะเร็งได้

นายแพทย์ดุย อันห์ ระบุว่า เมื่อเทียบกับ 10–20 ปีก่อน อัตราการเกิดมะเร็งในคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ปรากฏการณ์ “มะเร็งก่อนวัย” จึงกลายเป็นปัญหาน่าห่วงระดับโลก งานวิจัยพบว่า ในประเทศอุตสาหกรรม อัตราการเกิดมะเร็งในกลุ่มอายุ 25–29 ปี เพิ่มเร็วกว่าอายุอื่น และตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา อัตราของกลุ่มนี้ก็ยังสูงขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

มะเร็งที่กำลังเกิดกับคนรุ่นใหม่ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งไทรอยด์ มะเร็งผิวหนัง ฯลฯ

สาเหตุสำคัญมาจากไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ อาหารไม่สมดุล นั่งนิ่งนาน เครียดสะสม รวมถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อม พันธุกรรม และเชื้อไวรัส ซึ่งทั้งหมดนี้คือ ปัจจัยกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเติบโต

  • ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่

  • พฤติกรรมที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้ให้มะเร็งมาเยือนคนรุ่นใหม่เร็วขึ้น เช่น

    • นอนดึก: ทำลายจังหวะนาฬิกาชีวิต ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันและกระบวนการซ่อมแซมเซลล์ เพิ่มความเสี่ยงเกิดการกลายพันธุ์
    • เครียดสะสม: ความเครียดเรื้อรังอาจทำให้ภูมิต้านทานอ่อนแอ เปิดโอกาสให้เซลล์มะเร็งเติบโต
    • ขาดการเคลื่อนไหว: นั่งนิ่งนานเสี่ยงอ้วนและภาวะเมตาบอลิซึมผิดปกติ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งหลายชนิด
    • กินไม่เป็นระบบ: อาหารแปรรูป เนื้อแดง ไขมันอิ่มตัว และน้ำตาลขัดขาวมาก ขาดผักใบเขียวและไฟเบอร์ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและทำลายดีเอ็นเอ เสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และอีกหลายชนิด
  • มลพิษสิ่งแวดล้อม สารเคมี และอาหารไม่ปลอดภัย

  • นอกเหนือจากไลฟ์สไตล์ ปัจจัยภายนอกก็เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งในคนรุ่นใหม่ได้เช่นกัน

    • มลพิษทางอากาศ: ฝุ่นละเอียด PM2.5 และสารระเหยอินทรีย์ (VOCs) จากการเผาไหม้และอุตสาหกรรม ทำร้ายปอด เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งปอด
    • สารเคมีในอุตสาหกรรมและการเกษตร: ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และสารเคมีอื่น ๆ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอ เสี่ยงมะเร็งหลายชนิด
    • อาหารสกปรก: ผักผลไม้และวัตถุดิบที่มีสารตกค้าง เช่น ยาฆ่าแมลง สารเร่งโต สีผสมอาหาร โลหะหนัก หรือสารพิษจากเชื้อรา ทำลายเซลล์ เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งตับ กระเพาะ และลำไส้ใหญ่
  • พันธุกรรมและการกลายพันธุ์ของยีน

  • มะเร็งบางชนิดเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมโดยตรง นายแพทย์ดุย อันห์ ระบุว่า บางคนอาจได้รับยีนกลายพันธุ์ที่สืบทอดมา เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่

    นอกจากนี้ การแบ่งตัวของเซลล์หรือปัจจัยภายนอกยังทำให้เกิดการกลายพันธุ์แบบสุ่ม สะสมไปจนเซลล์กลายพันธุ์กลายเป็นเซลล์มะเร็ง ปัจจัยเสี่ยงที่มาตั้งแต่ช่วงชีวิตแรกจึงผลักให้มะเร็งมาเยือนรุ่นใหม่เร็วขึ้น

  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด

  • นายแพทย์ดุย อันห์ อธิบายว่า ไวรัสบางตัวมีหลักฐานเชื่อมโยงกับมะเร็ง เช่น ไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ซึ่งก่อมะเร็งหลายตำแหน่ง ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก ทวารหนัก คอหอย และอวัยวะเพศชาย

    “การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยหรือไม่ปลอดภัย เพิ่มโอกาสติดเชื้อ HPV” นายแพทย์ดุย อันห์ เตือน

    นอกจากนี้ ไวรัสบางชนิดเช่น ไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B) และ ไวรัสตับอักเสบ ซี (Hepatitis C) เมื่อติดเชื้อจะทำให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรัง โรคตับอักเสบหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับได้