
ด.ญ.ปิดเรื่อง "สายตาสั้น" มานาน 3 ปี เพราะกลัวครอบครัวแตกแยก เล่าลงเน็ตเหตุผลบีบใจ!
เมื่อความเข้มงวดกลายเป็นแรงกดดันทางใจ เด็กหญิงซ่อนเรื่องสายตาสั้นนาน 3 ปี เพราะกลัวครอบครัวผิดหวัง โพสต์เล่าลงโซเชียลฯ ใครอ่านก็จุกอก
"พูดความจริง แม้เพียงบางส่วน ก็อาจช่วยปกป้องสุขภาพของตัวเองได้" ประโยคที่สะเทือนใจจากเรื่องราวที่กำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางบนโซเชียลเวียดนาม เมื่อลูกสาวคนหนึ่งต้องปิดบังปัญหาสุขภาพของตัวเองนานถึง 3 ปี เพราะกลัวว่าครอบครัวจะผิดหวัง
เรื่องราวนี้ถูกเปิดเผยผ่านแพลตฟอร์ม Threads โดยเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง (ขอเรียกว่า "เอส") ซึ่งออกมาเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบ "สายตาสั้นแต่ต้องแกล้งว่าไม่เป็นอะไร" เพียงเพราะความกลัวต่อความคาดหวังจากครอบครัว
“หนูกลัวพ่อแม่ผิดหวัง เลยไม่กล้าบอกว่าตัวเองสายตาสั้น” เอสเล่าว่า เธอมีอาการสายตาสั้นมานานกว่า 2-3 ปี แต่ไม่เคยบอกพ่อแม่ เพราะกลัวจะถูกดุหรือผิดหวังในตัวเธอ โดยเฉพาะคุณพ่อที่มีนิสัยค่อนข้างเข้มงวด เธอเก็บเรื่องนี้ไว้คนเดียวมาตลอด แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้จะต้องไปตรวจสุขภาพกับคุณพ่อก็ตาม
“หนูกลัวพ่อแม่จะคิดว่าหนูไม่ดูแลตัวเอง ใช้โทรศัพท์เยอะ ทั้งที่พยายามทำตัวดีมาตลอด กลัวพ่อแม่จะไม่สบายใจ แล้วเปลี่ยนไปเหมือนเมื่อก่อนที่ชอบดุหนูบ่อย ๆ…”
แม้เอสจะยังไม่เคยไปวัดสายตาอย่างจริงจัง แต่ผลตรวจเบื้องต้นที่โรงเรียนชี้ว่าเธอมองเห็นเพียง 3-4/10 ซึ่งอาจเทียบได้กับการสายตาสั้นประมาณ 1.00 โดยประมาณ
เมื่อมีคนถามว่าแล้วใช้ชีวิตในห้องเรียนอย่างไร เอสตอบว่าเธอยังเรียนได้ปกติ เพราะนั่งแถวหน้าทำให้พอจะมองเห็นกระดาน แต่ถ้ามองไม่ชัดก็จะแอบถามเพื่อนข้างๆ เอาตลอด ทำให้ครูและเพื่อนๆ ยังไม่รู้ว่าเธอสายตาสั้น
“ที่ไม่บอก เพราะกลัวพ่อจะโกรธ หนูรู้สึกว่าพ่อไว้ใจหนูมากกว่าพี่ชาย เพราะหนูไม่เคยทำผิดอะไร… ถ้ารู้เรื่องนี้ หนูกลัวว่าพ่อจะผิดหวังในตัวหนูมากจริงๆ”
“ถ้าหนูไม่พูดออกไป ก็ไม่มีใครรู้ หนูไม่อยากให้พ่อแม่กลับมาเข้มงวดเหมือนเดิม หนูแค่อยากให้บ้านอบอุ่นแบบตอนนี้ต่อไป”
เรื่องราวของเอสสะท้อนปัญหาการเลี้ยงดูแบบเข้มงวดเกินพอดี ที่อาจกลายเป็น "แรงกดดันทางจิตใจ" ทำให้ลูกไม่กล้าพูดความจริง แม้เป็นเรื่องสำคัญอย่างสุขภาพ ใต้โพสต์ดังกล่าวจึงมีชาวเน็ตหลายคนแสดงความห่วงใยและสะเทือนใจ หลายความคิดเห็นได้รับความสนใจสูง เช่นการตั้งคำถามกลับมายังเรื่องนี้ว่า
"ครอบครัวต้องกดดันแค่ไหน เด็กถึงไม่กล้าบอกว่าตัวเองสายตาสั้น?"
"ทำไมเรื่องเล็กๆ อย่างสายตาสั้นถึงกลายเป็นสิ่งที่เด็กต้องเก็บไว้ลำพังตั้ง 3 ปี? มันสะท้อนความกลัวที่ฝังลึก"
"การที่เด็กกลัวบอกความจริงเรื่องสุขภาพ แปลว่าบ้านนั้นยังขาดความปลอดภัยทางใจ"
เส้นบางๆ ระหว่าง “เข้มงวด” กับ “ทำร้ายจิตใจ”
หลายครอบครัวอาจเข้าใจว่าความเข้มงวดคือการสอนให้ลูกมีวินัย แต่หากการสอนนั้นมากเกินไป โดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้พูด ได้รู้สึกปลอดภัย ก็อาจกลายเป็นการเลี้ยงดูแบบ "Toxic Parenting"
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard พบว่า การเลี้ยงดูด้วยการดุด่าหรือควบคุมมากเกินไป เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และพฤติกรรมก้าวร้าวในวัยรุ่น
ขณะที่งานวิจัยจาก Cambridge ชี้ว่า วินัยที่สมดุลซึ่งมาพร้อมความเข้าใจ จะช่วยให้เด็กเติบโตอย่างมั่นคง มีพฤติกรรมดี และกล้าแสดงออก
สุขภาพไม่ควรต้องซ่อน ความกลัวไม่ควรเป็นสิ่งปิดปากเด็ก ในยุคที่การใช้สายตามากเป็นเรื่องธรรมดา เด็กที่สายตาสั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ เมื่อปัญหาสุขภาพธรรมดากลายเป็นสิ่งที่ "เด็กต้องกลัวจนไม่กล้าพูด"
การเลี้ยงลูกให้มีวินัยและรับผิดชอบเป็นเรื่องดี แต่การสร้าง “บ้านที่ปลอดภัย” ทางจิตใจสำหรับลูก คือกุญแจสำคัญในการทำให้เด็กกล้าเผชิญความจริง และดูแลตัวเองได้ในระยะยาว
- นักจิตวิทยาชื่อดัง เตือนผัว-เมียทะเลาะกัน "อย่าพูดประโยคนี้" ถ้าไม่อยากทำลายชีวิตลูก!
- โศกนาฏกรรม นักจิตวิทยาทดลอง "เลี้ยงลูกคู่กับลิง" เผยบั้นปลายชีวิต จบไม่สวยทั้งคน-สัตว์