เนื้อหาในหมวด ข่าว

ไม่ใช่ฟันน้ำนม! ทารกคลอดมา \

ไม่ใช่ฟันน้ำนม! ทารกคลอดมา "มีฟันในปาก" แพทย์รีบถอนออกด่วน เผยอันตรายอย่างไร?

เคสหายาก! ทารกแรกเกิด "มีฟันในปาก" ตั้งแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลก แพทย์ต้องเร่งถอนป้องกันอันตราย หลุดลงหลอดลม-หลอดอาหาร

ฟันน้ำนมของเด็ก มักเริ่มขึ้นเมื่อทารกมีอายุประมาณ 6-8 เดือน แต่ในโลกนี้มีกรณีเด็กแรกเกิดที่มีฟันในปากตั้งแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกและน่าสนใจทางการแพทย์ ดังเช่นที่โรงพยาบาลหมายเลข 1 เมืองตงโจว ประเทศจีน เมื่อแพทย์ผู้รับผิดชอบการผ่าคลอดเด็กหญิงทารกคนหนึ่ง ได้ประกาศออกมาให้ทั้งทีมรับทราบอย่างตื่นตกใจว่า “มีฟันในปากของเด็ก!”

ฟันเล็กๆ ที่ปรากฏขึ้นนี้ ไม่แข็งแรง สามารถเคลื่อนที่ได้ เพราะยึดอยู่บนเนื้อเหงือกเพียงเล็กน้อย แผนกสูตินรีเวชจึงรีบเรียกทันตแพทย์เข้ามาปรึกษาและตัดสินใจ “ต้องถอนฟันออกอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันหลุดตกไปในหลอดลมหรือหลอดอาหาร ซึ่งอาจเป็นอันตรายอย่างมาก” ซึ่งการถอนฟันทารกใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที และสำเร็จโดยไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก

ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีแม่ชาวจีนคนหนึ่ง คลอดลูกสาวที่โรงพยาบาลประชาชนเขตใหม่ในประเทศจีน และทารกก็มีฟันตั้งแต่แรกเกิดเช่นกัน สร้างความฮือฮาในสังคมไม่น้อย เช่นเดียวกับข่าวจากสหรัฐฯ ที่รายงานว่าเด็กหญิงชื่อเบลีย์ (Bailey) จากเมืองบรันสัน รัฐมิสซูรี เกิดมาพร้อมกับฟัน2 ซี่ในวัยเพียงหนึ่งสัปดาห์ และในสหราชอาณาจักร เด็กหญิงชื่ออีวา (Eva) ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเจมส์คุก ก็มีฟันซี่แรกโผล่มาหลังคลอดไม่นานเช่นกัน

ทำความรู้จักกับ “ฟันแรกเกิด” และ “ฟันน้ำนม”

ฟันที่ขึ้นตั้งแต่ทารกแรกเกิดจะเรียกว่า “ฟันแรกเกิด” (Natal Teeth) ส่วนฟันที่ขึ้นหลังจากนั้นในช่วง 6-8 เดือนแรก จะถูกเรียกว่า “ฟันน้ำนม” ฟันเหล่านี้มักปรากฏที่ฟันหน้าล่าง มักจะไม่แข็งแรงหรือมีรากฟันสั้น ทำให้ฟันโยกหรือหลุดง่าย

แล้วฟันน้ำนมเริ่มขึ้นเมื่อไหร่? โดยปกติ ฟันน้ำนมจะเริ่มขึ้นเมื่อทารกอายุประมาณ 6 เดือน ฟันทั้งหมดจะขึ้นครบเมื่อเด็กอายุประมาณ 2-2.5 ปี กระบวนการสร้างฟันเริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึงประมาณ 1 ปีแรก หากเด็กไม่มีฟันขึ้นหลังจากอายุ 1 ปี หรือฟันน้ำนมไม่ขึ้นหลัง 1.5-3 ปี ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาอาการผิดปกติ เช่น ภาวะขาดสารอาหาร หรือโรคบางชนิดที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของฟัน

ต้องดูแลและจัดการอย่างไร? ฟันแรกเกิดมักถูกถอนออกทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้ฟันหลุดตกลงไปในหลอดลมหรือหลอดอาหาร และเพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการดูดนมของทารก ขณะที่ฟันน้ำนม หากมีอาการโยกเล็กน้อย ควรดูแลอย่างระมัดระวัง เช่น ปรับวิธีการให้นม หรือเปลี่ยนเป็นการป้อนด้วยช้อนบด ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสม

อย่างไรก็ดี สาเหตุของการมีฟันตั้งแต่แรกเกิดยังไม่ชัดเจน บางทฤษฎีเชื่อว่าเพราะเนื้อเยื่อรากฟันอยู่ใกล้ผิวเหงือกมากเกินไป หรือถุงฟันที่ล้อมรอบเนื้อเยื่อฟันบางเกินไป

เด็กทารกที่มีฟันตั้งแต่แรกเกิดเป็นเรื่องที่พบได้น้อย และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์เพื่อป้องกันอันตราย ฟันแรกเกิดส่วนใหญ่จะถูกถอนออกเพื่อความปลอดภัย ขณะที่ฟันน้ำนมที่ขึ้นตามวัยจะเป็นเครื่องบ่งชี้สุขภาพฟันและพัฒนาการของเด็ก หากพบความผิดปกติในการขึ้นฟัน ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อการวินิจฉัยและดูแลอย่างถูกต้อง