เนื้อหาในหมวด ข่าว

ประวัติ \

ประวัติ "เจ้าคุณอาชว์" อดีตเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ หลังสึกกะทันหันไม่ทราบสาเหตุ

เปิดประวัติ “เจ้าคุณอาชว์” อดีตเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ สึกกะทันหันไม่ทราบสาเหตุ ก่อนข้ามแดนไป สปป.ลาว

สร้างความตกตะลึงให้กับวงการพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2568 มีรายงานว่า พระเทพวชิรปาโมกข์ หรือ “เจ้าคุณอาชว์” อดีตเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพวรวิหาร และเจ้าคณะภาค 14–15 (ธรรมยุต) ได้ลาสิกขาอย่างเร่งด่วนโดยไม่ทราบสาเหตุ ก่อนเดินทางข้ามชายแดนไปยัง สปป.ลาว ภายในวันเดียวกัน

แหล่งข่าวเผยว่า เจ้าคุณอาชว์เดินทางไปลาสิกขาที่วัดจันทร์สามัคคี ต.มีชัย อ.เมือง จ.หนองคาย โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า และไม่มีการแถลงเหตุผลต่อสาธารณะ กระทั่งเวลา 21.08 น. ในวันเดียวกัน มีรายงานว่าท่านได้เดินทางออกจากประเทศไทยผ่านด่านชายแดน จ.หนองคาย เข้าสู่ สปป.ลาว สร้างคำถามและข้อสงสัยในสังคมอย่างกว้างขวางถึงเบื้องหลังการลาสิกขาในครั้งนี้

ประวัติ “เจ้าคุณอาชว์” หรือ พระเทพวชิรปาโมกข์

ชื่อเดิม: นายอาชว์ ซื่อสัตย์
อายุ: 54 ปี
พรรษา: 34 พรรษา
สังกัด: ธรรมยุติกนิกาย

การศึกษา

  • เปรียญธรรม 7 ประโยค
  • ปริญญาตรี ศาสนศาสตรบัณฑิต (ศน.บ.)

เส้นทางการปกครองคณะสงฆ์

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษในสมณเพศ เจ้าคุณอาชว์ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในสายปกครองธรรมยุต อาทิ

  • พ.ศ. 2557: ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี
  • พ.ศ. 2558: พระอุปัชฌาย์ ประเภทวิสามัญ
  • พ.ศ. 2562: ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม–สุพรรณบุรี
  • พ.ศ. 2565: เจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพวรวิหาร และเจ้าคณะภาค 14–15 (ธรรมยุต)
  • เป็นผู้ช่วยเลขานุการแม่กองธรรมสนามหลวง มีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมทั่วประเทศ

ลำดับสมณศักดิ์

  • พ.ศ. 2534: เปรียญธรรม 7 ประโยค
  • 5 ธ.ค. 2551: พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ พระชินวงศเวที
  • 5 ธ.ค. 2557: พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสารสุธี
  • 27 มิ.ย. 2566: พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวชิรปาโมกข์ เป็นสมณศักดิ์สูงสุดของท่าน ก่อนลาสิกขาใน 2 ปีถัดมา

พระนักปกครองผู้เปี่ยมเมตตา

"เจ้าคุณอาชว์" เป็นที่รู้จักในฐานะพระนักปกครอง-นักบริหารสายธรรมยุต ผู้เปี่ยมเมตตา และมีบทบาทสูงในงานบริหารคณะสงฆ์ ด้วยภูมิธรรมและภูมิปัญญาที่สั่งสมมายาวนานกว่า 30 พรรษา

สมณนาม "ปาโมกข์" มีความหมายถึง "ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ภิกษุ" ส่วน "วชิร" หมายถึง "เพชร อาวุธที่แกร่งกล้า" และ "เทพ" หมายถึง "ชั้นสูง ผู้เปี่ยมเมตตา" ซึ่งสะท้อนถึงคุณสมบัติของผู้นำทางธรรมที่มั่นคง เข้มแข็ง และเปี่ยมด้วยเมตตา