
เตือนให้รีบสังเกต! นักจิตบำบัดเผย 6 เรื่องที่ทำให้เด็ก “กังวลมากที่สุด” แต่พ่อแม่มักไม่รู้
เปิด 6 ความกังวลลึกของเด็ก ที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ ผู้เชี่ยวชาญเตือนให้รีบสังเกต
แม้พ่อแม่ส่วนใหญ่จะเชื่อว่า “วัยเด็กคือช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและความสุข” แต่ในความเป็นจริง เด็กจำนวนมากต้องเผชิญกับความกังวลใจอย่างเงียบๆ ที่สะสมอยู่ในใจทุกวัน
Ashley Graber และ Maria Evans ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กและการโค้ชผู้ปกครอง ซึ่งทำงานร่วมกับครอบครัวนับพันทั่วโลก เปิดเผยว่า ความกังวลในเด็กยุคใหม่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะในยุคที่โลกหมุนเร็วและสังคมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ทั้งคู่ได้ฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตกว่า 8,000 คน เพื่อช่วยเด็กๆ รับมือกับความเครียดและความวิตกกังวล จากประสบการณ์นับพันชั่วโมงในการให้คำปรึกษา พวกเขาพบว่า ความวิตกกังวลของเด็กนั้นลึกซึ้งและซับซ้อนกว่าที่ผู้ใหญ่คาดคิด ไม่ใช่แค่กลัวความมืดหรือกลัวการสอบ แต่ยังเกิดจาก “เรื่องเล็ก ๆ” ที่พ่อแม่มักมองข้าม
ดังนั้น เพื่อให้พ่อแม่สามารถเข้าใจและช่วยลูกได้ดียิ่งขึ้น ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองจึงเผย 6 ปัจจัยหลักที่เป็นต้นตอของความกังวลในเด็ก พร้อมคำแนะนำในการรับมืออย่างเหมาะสม
1. กังวลเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม
เด็กที่กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นมักไวต่อสายตาและความเห็นของคนรอบข้าง พวกเขาต้องการเป็นที่ยอมรับและกลมกลืนกับเพื่อนฝูง หากเด็กมีความแตกต่างในด้านรูปลักษณ์ ความสนใจ เชื้อชาติ หรือวัฒนธรรม พวกเขาอาจรู้สึกไม่มั่นใจ หรือถูกล้อเลียนและรังแก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในตัวเองและพัฒนาการทางอารมณ์
2. แรงกดดันจากโซเชียลมีเดีย
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียกลายเป็นแรงกดดันสำคัญในชีวิตของเด็กยุคใหม่ เพราะเด็กมักนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับภาพชีวิตที่ดูสมบูรณ์แบบของคนอื่น หากพ่อแม่ไม่คอยแนะนำหรือควบคุมการใช้งานอย่างเหมาะสม เด็กอาจตกอยู่ในภาวะวิตกกังวลเรื้อรัง ขาดความมั่นใจ และมองว่าตัวเอง “ไม่ดีพอ”
3. การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต
เหตุการณ์อย่างการย้ายบ้าน เปลี่ยนโรงเรียน การมีน้อง หรือการหย่าร้างของพ่อแม่ ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบทางจิตใจ แม้ในบางกรณีจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก แต่เด็กมักรู้สึกว่า “บางสิ่งบางอย่างหายไป” และยังไม่สามารถปรับตัวได้ทัน เช่น ความรู้สึกไม่เป็นที่รักอีกต่อไปเมื่อมี “น้อง” เกิดมา
4. ตารางชีวิตที่แน่นเกินไป
ในโลกยุคแข่งขันสูง หลายครอบครัวมักจัดตารางชีวิตให้ลูกแน่นเอี้ยดทั้งเรียนพิเศษ กีฬา ดนตรี จนแทบไม่มีเวลาว่าง การขาดเวลาสำหรับการเล่นอิสระและการอยู่กับตัวเอง อาจนำไปสู่ความเครียดสะสมและส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ รวมถึงสุขภาพจิตในระยะยาว
5. ขาดความสม่ำเสมอในการเลี้ยงดู
เด็กไม่จำเป็นต้องมีชีวิตที่ซ้ำซากทุกวัน แต่ความไม่แน่นอน เช่น การผิดสัญญา หรือการเปลี่ยนกฎอยู่บ่อยครั้ง อาจทำให้พวกเขาสับสนและรู้สึกไม่ปลอดภัย เมื่อลูกได้รับสารที่ขัดแย้งกันจากพ่อแม่ เด็กจะเริ่มตั้งคำถามว่า “ตกลงอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง?” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความเครียดและความไม่มั่นคงทางอารมณ์
6. ประสบการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ
แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่ดูไม่ร้ายแรงในสายตาผู้ใหญ่ เช่น ถูกสุนัขกัด หรือเห็นอุบัติเหตุในชีวิตจริง ก็สามารถสร้างบาดแผลทางจิตใจในเด็กได้ หากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม เด็กอาจตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นเดิมด้วยความกลัวอย่างรุนแรง เช่นหายใจไม่ออกหรือร้องไห้หนัก และอาจพัฒนาเป็นโรควิตกกังวลในอนาคต
ความกังวลของเด็กไม่ใช่เรื่องเล็ก หากปล่อยผ่านโดยไม่เข้าใจหรือช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตและพฤติกรรมไปจนโต การเริ่มต้นจากการ “ฟัง” และ “เข้าใจ” คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ลูกเติบโตอย่างมั่นคงทั้งด้านอารมณ์และจิตใจ ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเช่นทุกวันนี้
ดังนั้น หากคุณเป็นพ่อแม่ ลองสังเกตอย่างตั้งใจ พูดคุยอย่างอ่อนโยน และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับลูก เพื่อช่วยสำคัญในการพาเขาผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้อย่างแข็งแรงทั้งภายในและภายนอก
- ศจ.ชื่อดัง ชี้สังเกต “เด็ก EQ ต่ำ” มักมี 3 พฤติกรรมนี้บนโต๊ะอาหาร พ่อแม่ต้องรีบแก้ไขด่วน!
- ไขปริศนา "ลำดับการเกิด" ลูกคนโต-คนกลาง-คนสุดท้อง ใครฉลาดและหาเงินเก่งกว่า?