เนื้อหาในหมวด ข่าว

หมอไต้หวัน เตือน \

หมอไต้หวัน เตือน "กลิ่นอึ" 4 แบบสุดอันตราย อาจเป็นสัญญาณโรคร้ายก่อนแสดงอาการ

กลิ่นอุจจาระอาจเป็นสัญญาณของโรค! แพทย์เตือน หากได้กลิ่น "4 กลิ่น" ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะกลิ่นเหล่านี้จะปรากฏเร็วกว่าอาการ

อุจจาระไม่ใช่แค่ของเสียธรรมดา แต่มาจากเศษอาหารที่ร่างกายย่อยและดูดซึมแล้ว รวมถึงของเหลวจากน้ำย่อยและสารคัดหลั่งต่าง ๆ ซึ่งรูปร่างและกลิ่นของมันสามารถบอกถึงสุขภาพภายในได้ระดับหนึ่ง

แพทย์เผยว่า กลิ่นของอุจจาระมีรายละเอียดมากกว่าที่คิด และอาจเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนสุขภาพเบื้องต้นของร่างกาย เพราะเมื่อระบบลำไส้เริ่มมีความผิดปกติ สิ่งแรกที่มักเปลี่ยนไปไม่ใช่อาการที่เห็นได้ชัด แต่คือ “กลิ่น” ของอุจจาระนั่นเอง

นายแพทย์เจิ้ง หงจื้อ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร ชาวไต้หวัน ระบุผ่านเฟซบุ๊ก 你的腸胃科醫師 鄭泓志 內科 慢性病 ว่า งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์และชีววิทยาระดับนานาชาติ The FASEB Journal พบว่า กลิ่นของอุจจาระจริง ๆ แล้วมาจากก๊าซที่เรียกว่า "สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย" (Volatile Organic Compounds – VOCs)

สารเหล่านี้เกิดจากกระบวนการย่อยของแบคทีเรียในลำไส้ เช่น ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ที่มีกลิ่นเหมือนไข่เน่า), มีเทน, และแอมโมเนีย ที่น่าสนใจก็คือ โรคในระบบทางเดินอาหารแต่ละชนิดสามารถทำให้เกิดการรวมตัวของก๊าซที่แตกต่างกันออกไปด้วย

แพทย์อธิบายว่า ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน (IBS), โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) หรือแม้แต่โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มักมีองค์ประกอบของ VOCs ในน้ำอุจจาระที่แตกต่างจากคนปกติอย่างชัดเจน

นักวิจัยจึงเชื่อว่า ก๊าซเหล่านี้เปรียบเสมือน “ลายนิ้วมือของกลิ่น” ที่สามารถสะท้อนความผิดปกติในลำไส้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น บางครั้งอาจแสดงสัญญาณเร็วกว่าที่ร่างกายจะแสดงอาการเสียอีก หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ จมูกของเรานั้น อาจไวกว่าการตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์

หมอเจิ้ง หงจื้อ ยังระบุว่า กลิ่นอุจจาระที่ผิดปกติแต่ละแบบ อาจเชื่อมโยงกับปัญหาในระบบทางเดินอาหารที่แตกต่างกัน โดยสามารถจำแนกได้เป็น 4 กลิ่นหลัก พร้อมโรคที่อาจเกี่ยวข้อง ดังนี้

  • อุจจาระสีดำ มีกลิ่นคล้ายสนิมเหล็กหรือคาวเลือด

  • กลิ่นผิดปกติลักษณะนี้มักเกี่ยวข้องกับภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน เช่น กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น เมื่อลำไส้มีเลือดออก เลือดจะถูกย่อยโดยกรดในกระเพาะและน้ำย่อย จนเกิดกลิ่นคล้ายสนิมเหล็กหรือกลิ่นคาวอย่างชัดเจน

    นอกจากนี้ อุจจาระจะเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ ลักษณะคล้ายยางมะตอย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮีโมโกลบินในเลือดที่ถูกออกซิไดซ์

    โรคที่พบบ่อยในกรณีนี้ ได้แก่ แผลในกระเพาะอาหาร แผลในลำไส้เล็กส่วนต้น และภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร

  • มีกลิ่นเหม็นหืนหรือเหม็นเน่ารุนแรง ร่วมกับอุจจาระลอยน้ำและมีคราบมัน

  • กลิ่นลักษณะนี้มักบ่งชี้ถึงความผิดปกติในการย่อยและดูดซึมไขมัน อาจเกิดจากการที่ตับอ่อนหลั่งน้ำย่อยไม่เพียงพอ เช่น ในผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง หรือมีก้อนเนื้องอกในตับอ่อน รวมถึงความผิดปกติในการหลั่งน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี ท่อน้ำดีอุดตัน หรือการทำงานของตับและถุงน้ำดีผิดปกติ

    เมื่อไขมันไม่สามารถย่อยและแตกตัวได้ตามปกติ จะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นหืนหรือเหม็นเน่ารุนแรง และอุจจาระจะลอยน้ำ มีลักษณะเหนียวมัน และอาจมีไขมันปนออกมาด้วย

  • มีกลิ่นเปรี้ยวคล้ายของหมัก และอุจจาระมีฟองผิดปกติ

  • กลิ่นลักษณะนี้มักเกิดจากภาวะเสียสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ เมื่อแบคทีเรียชนิดไม่ดีเพิ่มขึ้น และแบคทีเรียดีลดลง อาหารที่ตกค้างในลำไส้จะเกิดการหมักแบบผิดปกติ ทำให้ปล่อยก๊าซกรดออกมาจำนวนมาก ส่งผลให้อุจจาระมีกลิ่นเปรี้ยวแรง ฉุน และอาจมีลักษณะเป็นฟอง

    สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ โรคลำไส้แปรปรวน (IBS), การได้รับโปรไบโอติกไม่เพียงพอ รวมถึงความเครียดเรื้อรังหรือการพักผ่อนไม่เป็นเวลา

  • มีกลิ่นเหมือนไข่เน่า ร่วมกับอุจจาระที่นิ่ม เหนียว หรือเป็นลักษณะเละ

  • กลิ่นนี้มักพบในผู้ที่รับประทานอาหารโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ผลิตภัณฑ์นม หรือเวย์โปรตีนในปริมาณมาก จุลินทรีย์ในลำไส้จะย่อยกรดอะมิโนที่มีธาตุกำมะถันในโปรตีนเหล่านี้ ทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H₂S) ซึ่งมีกลิ่นเหมือนไข่เน่าอย่างชัดเจน

    เมื่อรับประทานโปรตีนมากเกินไป อุจจาระจึงอาจมีลักษณะนิ่ม เหนียว หรือเป็นก้อนเละ ร่วมกับกลิ่นแรงคล้ายไข่เน่าในขณะขับถ่าย

    แพทย์เตือนว่า หากกลิ่นอุจจาระผิดปกติเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว อาจเป็นผลจากอาหารที่รับประทานเข้าไป แต่หากมีกลิ่นเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนและต่อเนื่องหลายวัน โดยเฉพาะเมื่อมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อุจจาระสีดำ อุจจาระมัน ท้องปวด หรือ น้ำหนักลด ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยเร็ว