
"คุณแม่ป้ายแดง" ติดหนี้บัตรเครดิตเกือบล้าน ปรึกษา AI เดือนเดียวใช้หนี้ได้เกินครึ่ง
เว็บไซต์ abcnews รายงานว่า เจนนิเฟอร์ อัลเลน (Jennifer Allan) นายหน้าอสังหาริมทรัพย์และครีเอเตอร์คอนเทนต์จากสหรัฐฯ กลายเป็นกระแสไวรัล หลังเธอเปิดเผยว่าใช้ ChatGPT เป็นผู้ช่วยหลักในการแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตจำนวน 23,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.4 แสนบาท) ได้อย่างน่าทึ่งภายในเวลาเพียง 1 เดือน
อัลเลนได้เริ่ม “ชาเลนจ์ 30 วันกับ ChatGPT” และโพสต์เรื่องราวในรูปแบบวิดีโอซีรีส์ผ่าน TikTok โดยเธอระบุว่า “ทุกวัน ฉันจะขอให้ ChatGPT แนะนำงานสักอย่างที่สามารถทำเงิน เพื่อใช้จ่ายหนี้บัตรเครดิต 23,000 ดอลลาร์ของฉัน”
ตลอดระยะเวลา 1 เดือน เธอทำรายได้กว่า 11,000 ดอลลาร์ และสามารถจ่ายหนี้ไปได้มากถึง 12,078.93 ดอลลาร์
อัลเลน ให้เครดิตกับ ChatGPT ว่าทำให้เธอมีวินัยกับเป้าหมายทางการเงินมากขึ้น แม้ว่า AI จะให้คำแนะนำแปลกๆ อยู่บ้างก็ตาม
“จากที่เคยไม่กล้ามองหนี้เลย ตอนนี้ฉันเข้าไปจัดการกับมันทุกวัน” เธอกล่าว
หนึ่งในคำแนะนำของ ChatGPT ที่กลายเป็นกระแสไวรัลคือ “ให้เขียนตัวเลขหนี้ทั้งหมด 23,000 ดอลลาร์ลงบนแตงโมด้วยปากกาเมจิก แล้วนำไปประมูลในชื่อ ‘ศิลปะหนี้’ (Debt Art)”
แม้เธอไม่ได้ขายแตงโมจริง แต่เธอถ่ายรูปแล้วโพสต์ลง eBay และมีคนซื้อภาพนั้นไปในราคา 51 ดอลลาร์ โพสต์วิดีโอดังกล่าวใน TikTok มียอดเข้าชมมากกว่า 2 ล้านวิวนอกจากไอเดียแหวกแนว ยังมีคำแนะนำที่ให้ผลลัพธ์จริง เช่น การค้นหาเงินที่อาจลืมไว้ในแอปต่างๆบนโทรศัพท์
“ฉันค้นในแอป Venmo แล้วพบว่ามีเงินค้างอยู่ 100.80 ดอลลาร์” เธอเล่า
การเดินทางครั้งนี้ยังทำให้เธอพบแหล่งเงินเก่าที่ลืมไปแล้ว เช่น บัญชีนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (brokerage account) ที่เธอและสามีเคยเปิดไว้
“สามีฉันบอกว่า -เรามีบัญชีลงทุนใช่ไหม- แล้วเราก็ไปดู พบว่ามีเงินอยู่ในนั้นถึง 10,200 ดอลลาร์ ฉันแทบร้องไห้เลย”
จนถึงตอนนี้ อัลเลน สามารถปลดหนี้บัตรเครดิตได้เกินครึ่ง และยังมีความมุ่งมั่นจะเคลียร์หนี้ทั้งหมดให้ได้
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินบางรายเตือนว่า AI อย่าง ChatGPT ควรถูกมองเป็นเพียง “เครื่องมือช่วยคิด” ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการจัดการเงิน
โนเอล คาร์เตอร์ (Noelle Carter) ประธานองค์กร Parachute Credit Counseling กล่าวว่า “AI อาจช่วยเสนอแนวคิดได้ดี แต่ก็ไม่อาจแทนที่ความรู้หรือวิจารณญาณของมนุษย์ได้”
ด้าน เท็ด รอสแมน (Ted Rossman) นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมจาก Bankrate ก็แนะให้คนทั่วไปใช้จ่ายภายใต้กำลังซื้อของตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหนี้ในอนาคต
“คนจำนวนมากมีเงินออมลดลงแต่หนี้เพิ่มขึ้น การตัดสินใจเล็กๆ เช่น ใช้รถเก่าต่อไป หรือยังไม่รีโนเวตครัว อาจช่วยคุณได้ในระยะยาว”