
จิตวิทยารักซ่อนเร้น "ทำไมคนคบชู้ชอบไปคอนเสิร์ต" เบื้องหลังพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ใช่แค่บังเอิญ?!
วิเคราะห์มุมมองจิตวิทยา เบื้องหลังพฤติกรรม "คบซ้อนเปิดเผยกลางที่สาธารณะ" ทำไมคนแอบมีกิ๊กชอบไปคอนเสิร์ต?
หนึ่งในประเด็นร้อนแรงบนโลกออนไลน์ช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นกรณีที่ถูกวิพากษ์ว่าเป็น “คบชู้แบบไม่แคร์สื่อ” ของ แอนดี้ ไบรอน (Andy Byron) ซีอีโอบริษัท Astronomer และ คริสติน คาบอต (Kristin Cabot) ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทเดียวกัน ซึ่งทั้งคู่ต่างมีครอบครัวอยู่แล้ว แต่กลับถูกจับภาพขึ้นจอ kiss cam ระหว่างคอนเสิร์ต Coldplay ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ช่วงเย็นวันที่ 16 กรกฎาคม ขณะที่กำลังโอบกอดกันอย่างหวานชื่น
กรณีนี้จุดกระแสวิพากษ์ในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง ไม่ใช่แค่เพราะเป็นเรื่องชู้สาวของผู้บริหารระดับสูง แต่เพราะสถานที่เกิดเหตุคือคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ที่มีผู้ชมจำนวนมหาศาล ซึ่งมีกล้องบันทึกภาพอยู่ทั่วทุกมุม จึงเกิดคำถามขึ้นในสังคมออนไลน์ว่า “ทำไมคนที่คบชู้ถึงมักเลือกแสดงความใกล้ชิดในสถานที่สาธารณะที่เสี่ยงจะถูกจับได้?”
หนึ่งในคำอธิบายที่นักจิตวิทยาเสนอคือ กลไกทางจิตที่เรียกว่า "ความรู้สึกไร้ตัวตนท่ามกลางฝูงชน" (deindividuation) ผู้คนมักคิดว่าเมื่ออยู่ท่ามกลางผู้คนจำนวนมากในคอนเสิร์ต สนามบิน หรือสนามกีฬา จะไม่มีใครสังเกตเห็นตนเอง ราวกับตัวเอง “ละลายหาย” ไปกับฝูงชน จึงกล้าทำสิ่งที่ปกติแล้วจะไม่กล้าทำ
แต่นั่นคือกับดักทางความคิด เพราะสถานที่เหล่านี้เต็มไปด้วย กล้องวงจรปิด กล้องถ่ายทอดสด และสายตานับพันที่พร้อมจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายวิดีโอได้ทุกเมื่อ
อีกหนึ่งกลไกทางจิตวิทยาคือ อคติที่คิดว่า “ตัวฉันไม่เหมือนคนอื่น” หลายคนที่กำลังมีความสัมพันธ์ลับเชื่อว่าตนเองรอบคอบ ฉลาด และวางแผนดีกว่าคนอื่น พวกเขามักดูข่าวฉาวของคนอื่นแล้วคิดว่า “ถ้าเป็นฉัน คงไม่พลาดแบบนั้นแน่นอน”, “เราระวังมากพอ ไม่มีทางโป๊ะแน่”
ความมั่นใจแบบผิดๆ นี้สร้าง “เกราะหลอกตัวเอง” และพาเข้าสู่สถานการณ์เสี่ยงโดยไม่รู้ตัว เพราะในความเป็นจริงแล้ว การปิดบังเรื่องผิดศีลธรรมอย่างสมบูรณ์นั้นแทบเป็นไปไม่ได้ ยิ่งในยุคโซเชียลที่แค่ภาพเดียวอาจเปิดโปงทั้งความสัมพันธ์
- อุ๊ย!! ทนายหย่าร้าง เผยผู้ชาย 3 อาชีพซื่อสัตย์สุดๆ และ 5 อาชีพใจเกเร "นอกใจมากที่สุด"
- รู้ให้ทัน! กูรูเซ็กซ์ เตือน 5 สิ่งบนเตียง ลางบอกเหตุ "แฟนมีชู้" ไม่ใช่แค่กลิ่นแปลก-ท่าทางใหม่
สำหรับบางคน การแอบคบชู้คือความตื่นเต้นแบบหนึ่ง คล้ายกับการพนันทางอารมณ์ ความรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ “เดินผ่านความเสี่ยง” โดยไม่ถูกจับได้ กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ทำซ้ำ เช่น ไปคอนเสิร์ตด้วยกัน แอบจับมือในที่สาธารณะ หรือเดินทางท่องเที่ยวแบบสองต่อสองอย่างลับๆ ยิ่งเสี่ยง ยิ่งหวาน ยิ่งอยากทำ แม้รู้ว่าถูกจับได้เมื่อไร ทุกอย่างอาจพังทลายลงในพริบตา
อีกแง่มุมที่ลึกซึ้งกว่านั้นคือ ความปรารถนาให้ความสัมพันธ์ถูกเปิดเผย ที่ซ่อยอยู่ภายในจิตใต้สำนึกอย่างไม่รู้ตัว หลายคนที่แอบคบกันอาจเริ่มรู้สึกอึดอัดกับการต้องปิดบัง และในระดับจิตใต้สำนึก อาจ “จงใจ” พาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่มีโอกาสถูกจับได้ เพื่อให้ความลับถูกเปิดเผยโดยไม่ต้องสารภาพเอง
บางคนอาจไม่มีความกล้าพอจะจบความสัมพันธ์เดิมด้วยตัวเอง แต่กลับเลือกที่จะ “ปล่อยให้เรื่องโป๊ะแตก” เพื่อให้สถานการณ์จบลงแทนที่จะเป็นคนพูดก่อน
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งจากคอนเสิร์ต Coldplay หรือแม้แต่ในสนามฟุตบอลอย่างที่เคยเกิดขึ้นในเอกวาดอร์เมื่อปี 2020 ล้วนตอกย้ำความจริงหนึ่งว่า ไม่มีสถานที่ใดที่แออัดพอจะซ่อนความลับได้ และกล้องก็ไม่เคยลืมใคร
ไม่มีที่ใด “ปลอดภัย” สำหรับการนอกใจ การแอบคบชู้ในที่สาธารณะจึงไม่ใช่แค่เรื่องของความประมาท แต่สะท้อนถึงจิตใจที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน ความลวง และความปรารถนาแบบย้อนแย้งที่มนุษย์มีต่อกัน
ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าคุณเลือกที่จะนอกใจ เลือกที่จะหลอกลวง และยังไม่มีความกล้าพอที่จะเผชิญหน้ากับผลที่ตามมา ก็อย่าหวังว่าจะได้รับความเห็นใจจากสังคมในวันที่ความจริงถูกเปิดเผย