
หมอเตือน! เคสมือถือ 3 แบบ เสี่ยงสารพิษสะสมในร่างกาย กระทบสมอง-ไตพัง–มะเร็งถามหา
หมอเตือน! เคสมือถือบางประเภทอาจแฝงสารพิษ ทำร้ายไต เสี่ยงมะเร็งโดยไม่รู้ตัว
ในยุคที่โทรศัพท์มือถือกลายเป็นของติดตัวแทบตลอด 24 ชั่วโมง หลายคนอาจไม่ทันระวังเรื่องเล็กๆ อย่าง “เคสมือถือ” แต่รู้หรือไม่ว่า เคสมือถือที่ดูดี สีสวย หรือราคาถูกผิดปกติ อาจเป็นภัยเงียบที่ค่อยๆ บั่นทอนสุขภาพของเราโดยไม่รู้ตัว
หมอหวงเซวียน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทรวงอกและโรคไตจากไต้หวัน ออกมาเตือนว่า เคสมือถือบางประเภท โดยเฉพาะรุ่นที่มีสีฉูดฉาดหรือขายในราคาต่ำมาก อาจผลิตจากวัสดุที่มีการปนเปื้อนของ สารตะกั่ว แคดเมียม หรือพลาสติกเกรดต่ำ ซึ่งหากสัมผัสต่อเนื่องในระยะยาว อาจส่งผลต่อระบบประสาท ทำลายการทำงานของไต และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง
“เคสบางประเภทมีสารตะกั่วเกินมาตรฐานถึง 30 เท่า โดยผู้ผลิตอาจนำขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดต้นทุน” หมอหวงระบุ
เขายังเสริมอีกว่า ในบางกรณีผู้ผลิตเลือกใช้สีเคลือบหรือยางคุณภาพต่ำ เพื่อให้ได้สีสดและสัมผัสนุ่มนวล ซึ่งสารเคมีเหล่านี้สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ เมื่อเราจับมือถือบ่อยๆ หรือแนบโทรศัพท์เข้ากับใบหน้าเป็นเวลานาน
สารอันตรายที่อาจแฝงอยู่ในเคสมือถือ
-
สารตะกั่ว: ทำลายระบบประสาท สมอง และความจำ หากสะสมในร่างกายมากอาจเสี่ยงต่อไตวาย
-
แคดเมียม / ปรอท: เป็นสารพิษที่ส่งผลต่อการทำงานของไตและระบบเลือด และมีแนวโน้มเป็นสารก่อมะเร็ง
-
พลาสติกเสริมสารเคมี : ใช้เพิ่มความยืดหยุ่นของเคส แต่หากไม่ผ่านมาตรฐานอาจก่อให้เกิดอาการแพ้และอักเสบผิวหนัง
3 ประเภทเคสมือถือที่แพทย์เตือนว่าควรระวัง
1. เคสสีฉูดฉาดจัดจ้าน
เคสที่มีสีสันสดเกินจริง เช่น สีเหลืองนีออน ชมพูบานเย็น เขียวสะท้อนแสง มักใช้สีย้อมเคมีคุณภาพต่ำ ซึ่งอาจมีโลหะหนักอย่างตะกั่วหรือแคดเมียมผสมอยู่ โดยเฉพาะในเคสราคาถูกที่ไม่ได้ผ่านการรับรองความปลอดภัย
2. เคสราคาถูกผิดปกติ (ไม่มีแหล่งผลิตชัดเจน)
เคสที่ขายในราคาถูกมากจนน่าสงสัย มักผลิตจากวัสดุรีไซเคิล เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือเศษวัสดุอุตสาหกรรม ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของโลหะหนักหรือพลาสติกที่ไม่ได้มาตรฐาน มีความเสี่ยงสูงต่อการสะสมสารพิษในร่างกายหากใช้งานต่อเนื่อง
3. เคสที่มีกลิ่นฉุน เหนียวมือ หรือสีตกง่าย
ถือเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจมีการใช้ พลาสติกเกรดต่ำหรือสารเคลือบที่อันตราย เช่น พลาสติก PVC ที่ปนเปื้อนสาร Plasticizer (สารเพิ่มความยืดหยุ่น) ซึ่งเมื่อสัมผัสบ่อย ๆ อาจซึมผ่านผิวหนังและสะสมในร่างกาย ส่งผลเสียระยะยาวต่อระบบไต ระบบสืบพันธุ์ และเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง
- วิจัยเจาะนิสัย "ใช้มือถือระหว่างขับรถ" สะท้อน 3 พฤติกรรมทางจิต รวมทั้งไซโคพาธ!
- แค่ดูมือบอกถึงตับ! หากเห็นสัญญาณ 2 อย่างนี้ที่ "ปลายนิ้ว" ควรพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ
4 วิธีเลือกเคสมือถือให้ปลอดภัย
เลือกเคสจากวัสดุที่ได้มาตรฐาน เช่น Liquid Silicone หรือ TPU ที่ปลอดสารพิษ
หลีกเลี่ยงเคสราคาถูกจนผิดสังเกต หรือเคสที่มีกลิ่นฉุน สีตกง่าย หรือเหนียวติดมือ
อย่าเลือกเคสที่มีสีฉูดฉาดเกินไป เพราะมักต้องใช้สารเคมีแรงในการย้อมสี
เปลี่ยนเคสทุก 3–6 เดือน และควรใช้หูฟังเวลาโทรศัพท์ เพื่อลดการสัมผัสโดยตรงกับใบหน้า
แม้จะเป็นแค่ของเสริมเล็กๆ แต่ “เคสมือถือ” ก็ไม่ใช่เรื่องเล็ก หากเลือกผิดอาจกลายเป็นภัยเงียบที่สะสมในร่างกายโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นครั้งหน้าก่อนจะซื้อเคสใหม่ ลองหยุดคิดอีกนิด เพื่อสุขภาพของตัวเราเอง