
แม่ใจร้าย?! ให้ลูกสาว 9 ขวบออกจากบ้าน เกินต้าน "พฤติกรรมอันตราย" เสี่ยงถึงชีวิตคนอื่น
แม่ตัดสินใจส่งลูกสาววัย 9 ขวบให้อยู่กับญาติ หลังควบคุมพฤติกรรมรุนแรงไม่ได้ ดราม่าหนัก โซเชียลถก "ปกป้องครอบครัว" หรือ "ทอดทิ้งลูก"?
เรื่องราวสะเทือนใจจากสหรัฐฯ กลายเป็นกระแสวิพากษ์ในโลกโซเชียล เมื่อคุณแม่รายหนึ่งออกมาเปิดเผยผ่าน TikTok ว่าเธอตัดสินใจให้ลูกสาววัย 9 ขวบไปอยู่กับญาติ หลังลูกมีพฤติกรรมรุนแรงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แม้พยายามรักษาด้วยวิธีทางจิตวิทยาแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมได้
แม็กเกิลส์ (Meggles) แม่ของเด็กหญิง ยืนยันพฤติกรรมของลูกไม่ใช่แค่ความดื้อซนทั่วไป แต่เป็นอาการที่รุนแรงและน่ากลัว ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยมักจะลงมือทำร้ายสมาชิกในครอบครัวหลายครั้ง เช่น ผลักน้องชายวัยเพียง 3 เดือนตกจากชิงช้า และเคยโยนเทียนไขที่จุดไฟแล้วใส่ท้ายทอยของน้อง จนต้องเย็บแผล รวมทั้งใช้ไม้เบสบอลตีใส่ตาพี่สาว และเคยใช้รองเท้าฟาดใส่ลูกพี่ลูกน้องด้วย แม้แต่สุนัขในบ้านก็เคยถูกกระทำ โดยโยนสุนัขพร้อมกับกรงเข้ามาในห้อง
เธอยังพูดถึงเหตุการณ์ที่ยกเป็นตัวอย่างว่าเลวร้ายที่สุด คือ ตอนที่กำลังขับรถอยู่ ลูกสาวกลับยื่นมือจากเบาะหลังมาปิดตาเธอขณะขับรถบนท้องถนน “ฉันต้องต่อสู้กับลูกตัวเองเพื่อดึงเธอออกจากตัวฉันให้ได้” เมกเกิลส์กล่าว
"มันไม่ใช่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นแบบสุ่ม แต่มันเกิดต่อเนื่องตลอดหลายปี และไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นเลย" แม็กเกิลส์เล่า พร้อมเผยว่าการรักษาทางจิตใจไม่ได้ผลเท่าที่ควร สุดท้ายเธอจึงเลือกส่งลูกไปอยู่กับญาติที่สามารถดูแลได้ดีกว่า เพราะหากปล่อยไว้ในบ้าน อาจทำร้ายคนในครอบครัวเพิ่ม
- แม่เอะใจ ลูกชายร้องไห้ทุกครั้งที่ "ลูกสาว" เข้าใกล้ ถอดเสื้อดูถึงรู้สาเหตุ แทบไม่เชื่อสายตา
- ลูกสาว 3 ขวบ กลับจาก รร.สะอื้นถาม “ถ้าถูกตีสู้กลับได้มั้ย?” แม่ไม่วีนครู แต่ตอบน่ายกย่อง
หลังคลิปวิดีโอถูกเผยแพร่ใน TikTok ได้เพียงไม่นาน ยอดรับชมทะลุ 25 ล้านวิว พร้อมคอมเมนต์กว่า 30,000 ข้อความ ซึ่งเสียงในสังคมก็แตกออกเป็นสองฝั่ง กลุ่มหนึ่งเห็นด้วยกับการตัดสินใจของแม่ โดยมองว่าเป็นทางออกที่กล้าหาญ และจำเป็นเพื่อความปลอดภัยของสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งกลับมองว่าแม่คนนี้ใจร้ายเกินไป
“เธอช่วยชีวิตลูกอีกสองคนไว้”
“นี่ไม่ใช่การทอดทิ้ง แต่เป็นการรับผิดชอบต่อทุกคนในบ้าน”
“นี่คือการตัดสินใจที่ยากมาก และไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจ”
“ลูกแค่ 9 ขวบ จะใจดำได้ลงคอจริงเหรอ?”
“ถ้ารู้ว่าดูแลไม่ไหว จะมีลูกหลายคนทำไม?”
“การส่งลูกให้คนอื่นดูแล ไม่ได้แปลว่าแก้ปัญหาได้”
ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เรื่องราวนี้ก็สะท้อนถึงความท้าทายของการเลี้ยงดูเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม และตั้งคำถามสำคัญว่า ในฐานะพ่อแม่ เราควรทำอย่างไรเมื่อความรักต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบและความปลอดภัยของทุกคนในบ้าน