เนื้อหาในหมวด ข่าว

งานวิจัยเผย \

งานวิจัยเผย "ซอสโปรด" ชาวโรมันเมื่อ 1,800 ปีก่อน ปัจจุบันคือเครื่องปรุงคู่ครัวไทย

งานวิจัยใหม่เผยส่วนผสมที่แท้จริงของซอสยอดนิยมของชาวโรมันโบราณ เมื่อ 1,800 ปี ปัจจุบันคือเครื่องปรุงที่คนไทยมีทุกบ้าน

กอนซาโล เทมูโด นักชีววิทยาจากโปรตุเกส เผยผลการศึกษาลงในวารสาร Antiquity เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม โดยงานวิจัยมุ่งเน้นไปที่ "การุม" ซอสปลาหมักที่ชาวโรมันใช้เป็นเครื่องปรุงยอดนิยม

จากการขุดค้นที่แอดโรเวลโล ในกาลิเซีย ประเทศสเปน เทมูโดสามารถสกัดดีเอ็นเอจากซากปลาในถังหมักการุมโบราณได้

ที่ก้นถังนักวิจัยพบกระดูกปลาชิ้นเล็ก ๆ ส่วนใหญ่เป็นกระดูกสันหลัง ซึ่งได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีเยี่ยม

ซากปลากระดูกเหล่านี้มีอายุถึง 1,800 ปี และผ่านกระบวนการหมักที่ซับซ้อน แต่ดีเอ็นเอในกระดูกยังคงสมบูรณ์พอสำหรับการศึกษา

เทมูโดสามารถสกัดและถอดรหัสสารพันธุกรรมได้สำเร็จ ผลการวิเคราะห์ยืนยันว่าซอสโบราณนี้ส่วนใหญ่ทำจาก "ปลาซาร์ดีน"

“เรารู้จากแหล่งข้อมูลอื่นและการวิเคราะห์รูปร่างว่า ปลาชนิดนี้น่าจะเป็นซาร์ดีน” เทมูโดกล่าวกับ Fox News Digital

“แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่การวิเคราะห์รูปร่างอาจผิดพลาด เพราะกระดูกสันหลังที่พบมีขนาดเล็กและหลุดลุ่ยมาก”

การสกัดดีเอ็นเอที่ยังสมบูรณ์กลับมาได้นั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อน

เทมูโดเผยว่าเขา “แทบไม่เชื่อเลย”

“เป็นความประหลาดใจอย่างมากเมื่อเราได้ผลลัพธ์ที่ยืนยันว่ามีดีเอ็นเอ และเมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นดีเอ็นเอของปลาซาร์ดีน” เขากล่าว

ซอสนี้ถูกส่งออกไปทั่วจักรวรรดิโรมัน หมายความว่าปลาซาร์ดีนท้องถิ่นน่าจะถูกนำมาใช้ปรุงรสอาหารไกลถึงดินแดนต่าง ๆ ในอาณาจักรนั้นด้วย

เทมูโดกล่าวว่า ซอสการุมเต็มไปด้วยกลูตาเมต ทำให้มีรสอูมามิ หรือรสกลมกล่อมคล้ายกับซอสปลา น้ำซุป อาหารทะเล เห็ด หรือชีสบางชนิดในปัจจุบัน

“ชาวโรมันน่าจะชื่นชอบรสชาติที่เข้มข้นและความหลากหลายในการใช้เป็นเครื่องปรุง และราคาซอสก็สะท้อนความนิยมนี้อย่างชัดเจน” เทมูโดกล่าว

เขายังเปรียบเทียบซอสการุมกับซอสถั่วเหลือง หรือถ้าจะให้แม่นยำกว่านั้นก็คือ "น้ำปลา" ที่คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้กันในปัจจุบัน

“ซอสนี้น่าจะมีกลิ่นคาวปลาแรงด้วย” เขากล่าว “ซอสสามารถใช้เป็นน้ำซุปปลา และใช้ปรุงรสเนื้อหรือปลาในระหว่างการเตรียมอาหารได้”

การศึกษานี้ยังเน้นย้ำถึงคุณค่าของการวิจัยดีเอ็นเอโบราณด้วย เทมูโดเน้นย้ำ

ดีเอ็นเอจะเสื่อมสภาพตามกาลเวลา แตกเป็นชิ้นเล็กลงเรื่อย ๆ จากความเสียหายทางเคมีและกายภาพ โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการหมักเช่นนี้

“ลองนึกถึงดีเอ็นเอเหมือนแผ่นกระดาษบางยาวมากที่เต็มไปด้วยตัวอักษร A, C, G และ T” เทมูโดกล่าว

“แต่มีคนหยิบแผ่นกระดาษเหล่านั้นมาแล้วฉีกครึ่ง จากนั้นก็นำแต่ละชิ้นไปฉีกต่อไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา กระดาษจะยิ่งฉีกเป็นชิ้นเล็กจนอ่านไม่ได้อีกต่อไป”

การค้นพบนี้ยังแสดงให้เห็นว่า แม้ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก ดีเอ็นเอโบราณก็ยังคงอยู่รอดและสามารถถอดรหัสได้

“งานวิจัยนี้ไม่เพียงแต่พิสูจน์ว่าเราสามารถสกัดและถอดรหัสดีเอ็นเอโบราณจากเศษปลาหมักหมมได้เท่านั้น” เขากล่าว “แต่ยังเปิดทางใหม่สู่การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของประชากรปลาชนิดนี้ตลอดช่วงเวลาอีกด้วย”