
เฉลยคำตอบพลิก!! ทำไม "รถยนต์ไฟฟ้า" ถึงทำให้เวียนหัว–คลื่นไส้ ทั้งที่ไม่เคยเมารถมาก่อน
นักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายแล้วว่า ทำไมหลายคนถึงรู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้ เมื่อนั่งรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งที่ไม่เคยมีปัญหาใดๆ กับการเดินทางนานหลายชั่วโมงในรถยนต์น้ำมันมาก่อน
ตรงกันข้ามกับความเข้าใจผิดที่มีอยู่บ้างในสังคม ปัญหาเวียนหัวเมื่ออยู่ในรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ได้เกิดจากสนามแม่เหล็กจากแบตเตอรี่หรือระบบไฟแรงสูงของรถ แม้ว่าแรงแม่เหล็กของรถไฟฟ้าจะสูงกว่ารถยนต์น้ำมัน แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลต่อสุขภาพ แม้จะสัมผัสในระยะยาวก็ตาม ส่วนปัญหาจริงคือสมองยัง “ไม่คุ้น” กับวิธีการเคลื่อนไหวแบบใหม่
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Belfort-Montbéliard ประเทศฝรั่งเศส ระบุว่า สาเหตุหลักของอาการเวียนหัวในรถไฟฟ้ามาจากความไม่คุ้นเคยของสมองกับ “พลศาสตร์การขับเคลื่อน” แบบใหม่ของรถประเภทนี้ เช่น การเร่งและการเบรกที่แตกต่างจากรถยนต์น้ำมันอย่างชัดเจน
Dr.William Emond นักวิจัยระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่า “เมื่อเราคุ้นชินกับรถน้ำมัน สมองจะเรียนรู้จากสัญญาณต่างๆ เช่น เสียงเครื่องยนต์ การสั่น ความรู้สึกของแรงบิด ฯลฯ แต่ในรถไฟฟ้า สิ่งเหล่านั้นหายไปหมด สมองเลยต้องเริ่มปรับตัวใหม่ทั้งหมด”
พูดง่ายๆ ก็คือ สมองและหูของเรายังไม่ทันปรับตัวกับรูปแบบการขับขี่ของรถไฟฟ้า ที่ทั้งเงียบและนุ่มนวลเกินไป ทำให้ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าเวลารถกำลังเร่งหรือชะลอ ผลคือเกิดอาการเวียนหัว คลื่นไส้ หรือเสียการทรงตัว เพราะสมอง “รับรู้ช้ากว่าความเป็นจริง”
- แพทย์อังกฤษแนะ ผลไม้ 1 ชนิด ช่วยบรรเทา "เมารถ" ที่ไทยหาง่าย ขายไม่ถึง 10 บาท!
- วิจัยเจาะนิสัย "ใช้มือถือระหว่างขับรถ" สะท้อน 3 พฤติกรรมทางจิต รวมทั้งไซโคพาธ!
อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจมีส่วนทำให้เวียนหัวได้ก็คือ ระบบเบรกแบบใช้พลังงานกลับคืน (regenerative braking) ที่รถไฟฟ้าส่วนใหญ่ติดตั้งไว้ โดยเมื่อคนขับถอนคันเร่ง รถจะชะลอความเร็วทันที เพื่อเปลี่ยนพลังงานจลน์ให้กลับไปชาร์จแบต ไม่ได้ “ไหล” ต่อเนื่องเหมือนรถน้ำมัน แม้จะชะลออย่างนุ่มนวลและต่อเนื่อง แต่การชะลอความเร็วถี่ๆ หรือใช้แรงเบรกหนัก อาจเพิ่มระดับอาการเมารถได้อย่างมีนัยสำคัญ
จากผลวิจัยของ InsideEVs ในปี 2024 ที่ทดลองกับกลุ่มคนที่ไวต่ออาการเมารถ พบว่า “ยิ่งเบรกแรง ยิ่งทำให้ผู้โดยสารมีอาการเมามากขึ้น” สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า “สัญญาณการเคลื่อนไหว” มีความสำคัญต่อสมองในการประมวลผล และเป็นแนวทางสำคัญสำหรับการออกแบบระบบเบรกและอินเตอร์เฟซของรถในอนาคต
นักวิจัยแนะนำว่าการเพิ่มสัญญาณช่วยเตือน ให้สมองสามารถ “คาดการณ์” การเคลื่อนไหวของรถ คือแนวทางลดอาการเมารถในรถไฟฟ้าได้ เช่น หน้าจออินโฟเทนเมนต์ที่แสดงภาพเคลื่อนไหวของรถ, ไฟ ambient light ที่เปลี่ยนสีก่อนเร่ง/เบรก, การสั่นเบาๆ ที่เบาะหรือพวงมาลัย เพื่อเตือนก่อนการเปลี่ยนจังหวะ ทั้งหมดนี้ช่วยให้สมองรับรู้ว่า “กำลังจะมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น” และช่วยลดอาการมึนหัวหรือเมารถได้อย่างมีประสิทธิภาพ