เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

“เชื้ออีโคไล” สาเหตุอาหารเป็นพิษ ระบาดหนักในสหรัฐผ่าน “ผักกาดหวาน”

“เชื้ออีโคไล” สาเหตุอาหารเป็นพิษ ระบาดหนักในสหรัฐผ่าน “ผักกาดหวาน”

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐ หรือ ซีดีซี ประกาศเตือนประชาชนห้ามทาน “ผักกาดหวาน” (romaine lettuce) ที่ผลิตจากเมืองยูมา รัฐแอริโซนา เนื่องจากมีการระบาดของ “เชื้ออีโคไล” ที่ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ

เชื้ออีโคไลในผักกาดหวานเริ่มระบาดไปทั่ว 25 รัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2018 ที่ผ่านมา แม้กระทั่งกระทรวงสาธารณสุขของรัฐแคลิฟอร์เนียยังยืนยันว่าตอนนี้พบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้ออีโคไลในครั้งนี้แล้ว

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐ ได้รับข้อมูลว่า พบผู้ป่วยจากการติดเชื้ออีโคไลในสหรัฐมากถึง 121 ราย โดย 52รายจากในกลุ่มนี้ถูกนำส่งโรงพยาบาล เพียงแค่รัฐแคลิฟอร์เนียที่เดียวก็พบผู้ป่วยมากถึง 24 ราย ซึ่งเป็นรัฐที่พบผู้ป่วยติดเชื้ออีโคไลมากที่สุด รองลงมาเป็นรัฐเพนซิลวาเนียที่พบผู้ป่วย 20 ราย ตามมาด้วยรัฐไอดาโฮอีก 11 ราย

ทางการสหรัฐระบุว่า เชื้ออีโคไลระบาดผ่านผักกาดแก้วที่ผลิตจากเมืองยูมา รัฐแอริโซนา ซึ่งสามารถระบุได้ไปถึงชื่อฟาร์มว่าเป็นผักกาดหวานของฟาร์มที่ชื่อ “แฮร์ริสัน ฟาร์ม” (Harrison Farms) แต่ก็รวมถึงผักกาดหวานจากฟาร์มอื่นๆ ใกล้เคียงด้วย ทั้งแบบขายทั้งหัว หรือแบบหั่นเป็นชิ้นๆ บรรจุใส่ถุง

 

 

ส่วนใหญ่เชื้ออีโคไลที่ตกค้างอยู่ในพืชผักจะไม่ได้เป็นอันตรายถึงสุขภาพมากขนาดนั้น แต่ก็มีเชื้ออีโคไลบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการคล้ายอาหารเป็นพิษ ทั้งปวดท้อง อาเจียน และท้องร่วง จนอาจถ่ายเป็นเลือดได้ ในบางกรณียังอาจเกิดอาการไตวาย หรืออยู่ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก-ยูรีเมียได้ (hemolytic uremic syndrome)

สำหรับการระบาดของเชื้ออีโคไลครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นเมื่อปี 2006 โดยพบผู้ป่วยติดเชื้อมากถึง 199 รายและเสียชีวิต 3 ราย จากการแพร่กระจายของเชื้อโรคผ่านผักปวยเล้ง

ทั้งนี้ สำหรับเชื้ออีโคไลในเมืองไทย ถึงแม้จะไม่ได้แพร่ระบาดหนักเหมือนในสหรัฐอเมริกา แต่เราก็อาจพบการติดเชื้อของเชื้ออีโคไลผ่านพืชผักที่ไม่สะอาด หรือมีสารตกค้างจากปุ๋ยคอก อุจจาระคน ในดิน หรือจากแหล่งน้ำธรรมชาตำได้ ดังนั้นควรทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก และเลือกซื้อผักผลไม้จากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้ออีโคไลจากอาหาร