เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

น้ำหนักขึ้น-ลงเร็วผิดปกติ อันตรายต่อร่างกายอย่างไร?

น้ำหนักขึ้น-ลงเร็วผิดปกติ อันตรายต่อร่างกายอย่างไร?

เรื่องของน้ำหนักมักเป็นหัวข้อที่ไม่ว่าจะผู้หญิงผู้ชาย หรืออยู่ในช่วงอายุไหนๆ ก็มักจะแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอยู่ตลอด เพราะแต่ละคนก็มีความกังวลแตกต่างกัน บางคนอ้วนเกินไปอยากลดน้ำหนัก แต่ก็มีบางคนที่ผอมเกินไปจนอยากจะเพิ่มน้ำหนักเช่นเดียวกัน แต่ละคนเลยมักจะแบ่งปันสูตรเพิ่ม หรือลดน้ำหนักด้วยกันอยู่เรื่อยๆ แต่หากเราลองทำตามแล้วได้ผลก็จริง แต่น้ำหนักของร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงมากเกินไปในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จะส่งผลกระทบอะไรต่อร่างกายบ้างหรือไม่ Sanook! Health มีคำตอบจากโรงพยาบาลวิภาวดีมาฝากกัน

น้ำหนักเปลี่ยนมากแค่ไหน ถึงเรียกว่าผิดปกติ

หากคุณน้ำหนักลด หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 5-10% ของน้ำหนักเดิมของเราภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน โดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะลด หรือเพิ่มน้ำหนักเลย นั่นหมายถึงอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายของคุณได้ เช่น หากเคยมีน้ำหนัก 60 กิโลกรัม หากคุณน้ำหนักลงไปถึง 54-57 กิโลกรัม หรือน้ำหนักเพิ่มถึง 63-66 กิโลกรัม ภายใน 6 เดือน ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกายโดยละเอียด เพราะอาการน้ำหนักลดหรือเพิ่มอย่างรวดเร็ว อาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคอันตรายต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคที่เกี่ยวกับฮอร์โมน ไทรอยด์ ต่อมน้ำเหลือง ตับ ไต เป็นต้น

ทั้งนี้ หากพูดถึงคนที่กำลังพยายามลด หรือเพิ่มน้ำหนัก ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน น้ำหนักก็ไม่ควรเปลี่ยนแปลงเกิน 1 กิโลกรัมต่อ 2 สัปดาห์ (หรือ ½ กิโลกรัม ต่อ 1 สัปดาห์) 

สาเหตุที่ทำให้น้ำหนักเพิ่ม-ลด

ไม่ว่าคุณจะตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจจะเพิ่มน้ำหนักก็ตาม สาเหตุที่ทำให้น้ำหนักของคุณเพิ่มขึ้น อาจเป็นเพราะสาเหตุดังต่อไปนี้

  • อาหารที่ทานไม่เหมือนเดิม

    แน่นอนว่าน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่สาเหตุที่ชัดเจนมาจากอาหารที่ทานเข้าไปในร่างกาย อาจจะทานอาหารในบริมาณที่มากเกินกว่าที่เราเคยทาน จึงทำให้เราได้รับพลังงานเพิ่มมากขึ้นเกินความจำเป็นในแต่ละวัน จนพลังงานที่เหลือไปสะสมเป็นไขมันอยู่ตามชั้นผิวหนังด้านในนั่นเอง นอกจากนี้ยังเกี่ยวกับประเภทของอาหารที่ทาน คุณอาจกำลังทานอาหารที่ให้พลังงานสูงติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 1 สัปดาห์ เช่น อาหารทอด ของหวาน ขนมปังขาวที่มีส่วนผสมของน้ำตาล น้ำเชื่อม หรือทานอาหารสำเร็จรูปมากเกินไป เป็นต้น ส่วนใครที่น้ำหนักลด ก็อาจจะเป็นในทางตรงกันข้าม คือ ทานอาหารน้อยลง หรือเลือกทานอาหารที่ให้พลังงานต่ำลง เช่น ลดการทานแป้ง น้ำตาล และไขมันจากสัตว์ลงนั่นเอง (รวมไปถึงคนที่ทานอาหารคนเดียว อาจทานได้น้อยลงกว่าเดิมด้วย)
  • กิจกรรมในชีวิตเพิ่ม-น้อยลง

    จากที่เคยออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ ช่วงนี้อาจไม่ได้ออกกำลังกายเหมือนเดิม หรือแต่ก่อนอาจจะเดินมากขึ้น แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยได้เดินไปไหน การใช้ชีวิตเปลี่ยนจากงานที่ต้องเดินต้องยืน ก็เปลี่ยนมาเป็นการนั่งทำงานตลอดทั้งวัน รวมไปถึงการไม่สบาย หรือร่างกายมีอาการบาดเจ็บ จนทำให้ร่างกายไม่ได้ขยับเขยื้อนมากนัก การเผาผลาญพลังงานจากอาหารที่เราทานเข้าไปเท่าเดิมจึงน้อยลง จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักขึ้นได้ (แต่จากสาเหตุนี้ มักจะน้ำนหักขึ้นอย่างช้าๆ มากกว่า) คนที่น้ำหนักลด อาจอยู่ในช่วงทำงานที่ใช้พละกำลังมากขึ้น เดินมากขึ้น ขยับร่างกายมากขึ้น รวมไปถึงออกกำลังกายมากขึ้นด้วย
  • ผลข้างเคียงจากการทานยาบางชนิด

    คุณอาจเป็นคนที่ต้องทานยาบางชนิดอยู่เป็นประจำ โดยอาจมีการเปลี่ยนเป็นยาตัวใหม่ในช่วงนี้ ผลของยาบางตัวอาจทำให้น้ำหนักขึ้นได้ เช่น ยาต้านซึมเศร้า หรือการใช้ฮอร์โมนเพิ่มเติมอย่าง ฮอร์โมนเอสโทรเจน โพรเจสเทอโรน และคอร์ติโซน เป็นต้น ยาที่ทานแล้วน้ำหนักลดก็อาจมีอยู่บ้างเช่นกัน เช่น ยาต้านซึมเศร้าบางชนิด ยากระตุ้นบางชนิด ยาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน หรือยาตามแพทย์สั่งบางตัว
  • ความเครียด

    บางคนอาจเครียดแล้วไม่ทานอาหาร แต่กับบางคนอาจเครียดแล้วยิ่งทานอาหารมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นความเครียดส่งผลกระทบต่อการทำงานในส่วนต่างๆ ของร่างกายให้แปรปรวนตามไปด้วย ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ระบบไหลเวียนโลหิตอาจทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม จึงทำให้เกิดเป็นไขมันสะสมตามชั้นผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณพุงส่วนล่าง ตามต้นแขนต้นขา และสะโพกได้ หรืออาจทำให้เราเบื่ออาหาร ทานอะไรไม่ลงจนน้ำหนักลดได้เช่นกัน นอกจากนี้ความเครียดยังส่งผลให้เราทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันน้อยลง เราอาจขาดการเดิน การวิ่ง การออกกำลังกาย นั่นจึงเป็นการทำให้ลดการใช้พลังงานในแต่ละวันลงไปอีกด้วย
  • ภาวะบวมน้ำ

    ภาวะบวมน้ำ อาจเกิดขึ้นกับคนที่มีการทำงานของหัวใจ ไต หรือต่อมไทรอยด์ผิดปกติ จะรู้สึกว่าตัวบวม แขน ขา นิ้วบวม แหวน หรือรองเท้าเดิมๆ ที่ใส่อยู่รู้สึกคับ ตกบ่ายๆ เย็นๆ อาจมีอาการเหนื่อยหอบ และอาจเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นในช่วงเวลากลางคืน และอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้
  • มีอาการของโรคบางอย่าง

    ใครที่อาการผิดปกติที่ฟัน เหงือก โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ปัสสาวะบ่อย ระบบย่อยอาหารผิดปกติ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ ถ่ายเหลวบ่อย เป็นโรคติดเชื้อ เช่น เอดส์ วัณโรค รวมไปถึงโรคมะเร็งชนิดต่าง อาจมีส่งสัญญาณอันตรายมาพร้อมกับอาการน้ำหนักลดลงได้ 
  • เคล็ดลับในการลดน้ำหนักอย่างปลอดภัย

    หลักการง่ายๆ มีเพียงแค่ลดอาหารที่ให้พลังงานเกินลง เช่น แป้งขาว น้ำตาล ไขมันจากสัตว์ เครื่องดื่ม และอาหารหวานๆ อาหารสำเร็ตรูป อาหารแปรรูปต่างๆ เป็นต้น จากนั้นเริ่มออกกำลังกายทั้งเล่นเวท และคาร์ดิโอครั้งละอย่างน้อย 30 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์ และพักผ่อนให้เพียงพอ นอน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน หากรักษาระดับน้ำหนักให้ค่อยๆ ลง 1 เดือนไม่เกิน 2 กิโลกรัมได้ ก็สามารถลดน้ำหนักช้าๆ แต่ปลอดภัยได้เรื่อยๆ 

    เคล็ดลับในการเพิ่มน้ำหนักอย่างปลอดภัย

    อันที่จริงแล้ว การเพิ่มน้ำหนักด้วยตัวเองสำหรับคนที่ผอมมากตั้งแต่เด็ก อาจเป็นเรื่องที่อันตรายมากเกินไป ดังนั้นจึงอยากแนะนำให้พบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุที่ทำให้ผอมกว่าปกติเสียก่อน หากเป็นเพียงพันธุกรรม หรือเป็นคนที่เผาผลาญพลังงานได้ดีอยู่แล้ว ก็ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ และนักโภชนาการ เพื่อการวางแผนการทานอาหาร และการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวเราให้ได้มากที่สุด โดยหลักๆ แล้วอาจเป็นการเพิ่มปริมาณ และมื้ออาหารที่เราทานให้มากขึ้น เน้นทานอาหารที่ให้พลังงานสูง (แต่ไม่อันตรายต่อร่างกาย) เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ น้ำมันมะกอก ข้าวกล้อง ผลไม้ต่างๆ หลีกเลี่ยงการเพิ่มน้ำหนักด้วยอาหารพลังงานสูงที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ขนมหวาน หรืออาหารฟาสต์ฟูด และออกกำลังกายเน้นการเล่นเวทเฉพาะที่มากกว่าการคาร์ดิโอ เป็นต้น 

    เราไม่จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักทุกวัน อาจจะ 3-4 วันครั้ง หรืออาทิตย์ละครั้งก็ได้ เพื่อค่อยๆ เช็กน้ำหนักของตัวเองที่คงที่แล้ว (ใน 1 วันน้ำหนักของเราสามารถขึ้นหรือลงได้ ½ -1 กิโลกรัมอยู่แล้ว) และควรชั่งน้ำหนักเวลาเดิม วันเดิมของสัปดาห์ สวมชุดเดิม (ใส่ให้น้อยชิ้นที่สุด หรือไม่ใส่เสื้อผ้าก็ได้) บนเครื่องชั่งน้ำหนักตัวเดิม และวางเครื่องชั่งน้ำหนักที่เดิมทุกครั้ง (บางบนพื้นเรียบแข็ง ไม่วางบนผ้า หรือพรม เพราะค่าน้ำหนักอาจเคลื่อนได้)

     

    น้ำหนักเปลี่ยนมากแค่ไหน ถึงเรียกว่าผิดปกติ

    กินเจอย่างไร ไม่ให้อ้วน และไม่ขาดสารอาหาร

    กินเจอย่างไร ไม่ให้อ้วน และไม่ขาดสารอาหาร

    กินเจอย่างไรไม่ให้อ้วน แนะนำเคล็ดลับการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พร้อมวิธีควบคุมน้ำหนักระหว่างเทศกาลกินเจ เพื่อให้คุณกินอร่อยและเฮลตี้ได้ทุกวัน

    เช็กก่อนกิน “คีโตเจนิค” เหมาะกับใคร ใครควรกิน-ไม่ควรกิน

    เช็กก่อนกิน “คีโตเจนิค” เหมาะกับใคร ใครควรกิน-ไม่ควรกิน

    คีโตเจนิค คืออะไร หากคุณอยู่ในกลุ่มที่ไม่ควรกิน คีโตเจนิค ก็ควรลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่น เพราะอาจส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้