เนื้อหาในหมวด ท่องเที่ยว

\

"สวนรถไฟ" กับ "สวนจตุจักร" คือที่เดียวกันไหม สวนไหนอยู่ตรงไหนกันแน่

หลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อ "สวนรถไฟ" และ "สวนจตุจักร" ซึ่งเป็นสวนสาธารณะยอดนิยมในย่านจตุจักร กรุงเทพมหานคร แต่ก็ยังมีหลายคนที่สงสัยว่าทั้งสองที่นี้คือที่เดียวกันหรือไม่ หรือต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกัน

สวนรถไฟ กับ สวนจตุจักร คือที่เดียวกันไหม

สวนรถไฟ หรือ  สวนวชิรเบญจทัศ

สวนรถไฟ

ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสภาพแวดล้อมในรูปการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เพื่อยก ระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพฯ ให้ทัดเทียมมหานครใหญ่ในภูมิภาค จึงเป็นที่มาของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 และ 29 มกราคม 2534 สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้จัดสร้างสวนสาธารณะบนพื้นที่ “สนามกอล์ฟรถไฟ” ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ส่วนแรก  140 ไร่ ให้สร้างเป็นสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ส่วนที่เหลือ 375 ไร่ กรุงเทพมหานครรับมอบที่ดินจากกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 และจ่ายค่าชดเชยให้การรถไฟฯ จำนวน 555 ล้านบาท และเริ่มเข้าปรับปรุงพื้นที่สนามกอล์ฟเดิมเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2542 เดิมสวนสาธารณะแห่งนี้ประชาชนรู้จักในนามสวนรถไฟ กรุงเทพมหานครได้ขอพระราชทานนามสวนแห่งนี้จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สวนวชิรเบญจทัศ” เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2545

สวนสาธารณะแห่งนี้ถูกสร้างในแนวคิด “สวนครอบครัว” ที่ตระเตรียมกิจกรรมหลากหลายไว้ดึงดูดความสนใจของสมาชิกทุกวัยในครอบครัวแทรกอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่โล่งกว้าง และเขียวขจี สดชื่น สบายตา ให้ความรู้สึกอิสระ มีเนินหญ้าสลับกับพื้นราบกว้างมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานสำหรับสวนสาธารณะครบครัน และเป็น “สวนสาธารณะในฝันของนักปั่นจักรยาน” ด้วยเส้นทางจักรยานระยะทาง 3.2 กิโลเมตร ลัดเลาะดงไม้ ไต่เนินไปรอบนอกสวน หรือจะเลือกเดินชมธรรมชาติ วิ่งออกกำลังก็ทำได้ในเส้นทางใหญ่ภายในบริเวณสวน นอกจากนี้ในช่วงปี 2560 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ได้มีนโยบายปลูกต้นรวงผึ้ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร บริเวณลานรวงผึ้งในพื้นที่สวนวชิรเบญจทัศ จำนวน 110 ต้น

สถานที่สำคัญ

1.เส้นทางจักรยาน สวนวชิรเบญจทัศได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปในปีในปี 2542 ซึ่งกำหนดให้เป็นสวนครอบครัว และได้มีการบำรุงเส้นทางจักรยานในปี 2543 เป็นการนันทนาการของครอบครัว และมีการจัดสร้างเส้นทางจักรยานแยกจากทางเดิน - วิ่งของประชาชน ซึ่งเดิมเป็นเส้นทางบริการของสนามกอล์ฟรถไฟเดิมที่สร้างขึ้น ต่อมาสภาพของสะพานที่เป็นส่วนหนึ่งของทางจักรยานชำรุดทรุดตัว กลุ่มผู้ขับขี่จักรยาน ปะปนกันไป ประมาณ 4 - 5 ปี ที่ผ่านมามีผู้ออกกำลังกายขับขี่จักรยานมากขึ้น ซึ่งต้องใช้ความเร็วพอสมควร อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้บริการเดิน - วิ่ง เป็นบางครั้ง ต่อมาในปี 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีดำริให้ปรับปรุงเส้นทางจักรยาน ทางคนเดิน - วิ่ง ให้แยกออกจากเส้นทางของผู้ขับขี่จักรยาน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง กรุงเทพมหานครได้จัดสรรงบประมาณ 2559 เป็นเงิน 21 ล้านบาท เพื่อนำมาปรับปรุงเส้นทางจักรยานโดยรอบสวนวชิรเบญจทัศระยะทางประมาณ 3.2 กิโลเมตร

2.อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของสวนวชิรเบญจทัศ เป็นอาคารรูปโดมขนาด 1 ไร่ ภายในแสดงนิทรรศการ ห้องวีดีทัศน์ให้ความรู้ และกรงผีเสื้อแบบ walk in ที่จัดภูมิทัศน์ได้งดงามด้วยน้ำตก ธารน้ำ และมวลไม้ดอก นำเสนอโอกาสชื่นชมผีเสื้อสีสันสวยงามนับพันตัวในสภาพที่อยู่จริง มิใช่ในกล่องสะสมแมลงอีกต่อไป อีกทั้งยังจัดอบรมความรู้ด้านการดูนกในสวน ความรู้เกี่ยวกับผีเสื้อ และแมลงแก่ประชาชนทั่วไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

3. ศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ ให้บริการด้านสถานที่ และอุปกรณ์กีฬาแก่สมาชิก มีสระว่ายน้ำ สนามบาสเกตบอล สนามฟุตซอล ลานเปตอง ฟิตเนส ฯลฯ
4.ศูนย์เยาวชนวชิรเบญจทัศ ให้บริการด้านกิจกรรมนันทนาการรูปแบบต่างๆ มีสระว่ายน้ำสำหรับเด็กที่ตกแต่งด้วยน้ำพุล่อใจสร้างความเพลิดเพลิน ติดตั้งจุดพ่นละอองน้ำเป็นระยะสร้างไอเย็นดับร้อน เรียกความสนใจจากเด็กได้ดี
5.บ้านหนังสือของสำนักงานเขตจตุจักร ให้บริการในด้านหนังสือต่างๆ แก่เด็ก และประชาชนทั่วไป
6.เมืองจราจรจำลอง เป็นสถานที่แห่งการสร้างจิตรสำนึกในการเคารพกฎจราจรให้แก่เด็ก และเยาวชน
7.หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ตั้งอยู่ที่ สวนวชิรเบญจทัศ เยื้อง ๆ กับปั๊มน้ำมันปตท. จัดสร้างถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสครบรอบพระบรมราชาภิเษกครบ 60 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานอนุญาตให้จัดสร้าง โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อมิถุนายน พ.ศ. 2552 เป็นอาคารปูน 3 ชั้น อยู่ริมสระน้ำ และสวนกิจกรรมลานธรรมะ สำหรับรองรับกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้ และเข้าใจธรรม
8.ศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ ตั้งอยู่ในสวนวชิรเบญจทัศ อาคารมีม่านน้ำปลิวโปรยสวยงาม ลานรอบนอกเป็นพื้นที่สันทนาการ นั่งเล่น พักผ่อน หรือปั่นจักรยาน ครอบครัว และเด็กๆ      ได้เดินเล่น วิ่งเล่น สนุกสนาน และปลอดภัย พรรณไม้สวยงามประดับจับวางอย่างสวยงาม เป็นระบบ และมีประโยชน์ใช้สอย ลานโค้งด้านหน้าทอดขนานไปกับบึงน้ำคั่นกลางระหว่างพื้นที่ของอาคารกับสวนรถไฟ
9.ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ “ความสุขปลูกได้”

สวนจตุจักร

สวนจตุจักร

ความเป็นมา

สวนสาธารณะแห่งนี้เปิดเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2523 โดยมีจุดเริ่มต้นในปี 2518 ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน เพื่อสร้างสวนสาธารณะ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 4 รอบในวันที่ 5 ธันวาคม 2518 กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมดำเนินการก่อสร้าง และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หน่วยงานภาคเอกชนหลายหน่วย ต่อมาขยายพื้นที่โครงการอีก 90 ไร่ในที่ดินซึ่งการรถไฟฯ มอบให้เพิ่มเติม

สวนจตุจักรถือได้ว่าเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานครที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตจตุจักรบริเวณศูนย์กลางย่านธุรกิจการค้า ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้บริการประชาชนย่านนี้มาช้านาน จากพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินเพื่อสร้างสวนสาธารณะตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช(รัชกาลที่ 9) ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 4 รอบในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2518 และได้มอบพื้นที่ให้กรุงเทพมหานครสร้างเป็นสวนสาธารณะและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามของสวนแห่งนี้ว่า “สวนจตุจักร” (ซึ่งเป็นชื่อภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า “สี่รอบ”) และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2523 สวนจตุจักรมีพื้นที่ทั้งหมด 155 ไร่ 56.60 ตารางวา โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของสวนจตุจักรเป็นพื้นที่สนามหญ้า ไม้ยืนต้น แปลงไม้ดอกไม้ประดับ  บึงน้ำ เน้นบรรยากาศเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจร่มรื่นเขียวขจีและความสวยงามของต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ มีเส้นทางรอบสวนเหมาะแก่การวิ่งออกกำลังกาย พร้อมจัดให้มีพื้นที่สำหรับออกกำลังกายและกิจกรรมนันทนาการ อาทิเช่นสวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษา  พลตรีหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีฐานฝึกออกกำลังกายจำนวน 12 ฐาน  ลานอเนกประสงค์ สนามเด็กเล่น เครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง เส้นทางเดิน-วิ่ง รวมถึงทัศนียภาพและสถานที่สวยงามน่าสนใจอื่นๆ ทั้งลานไม้ดอกที่ปลูกสับเปลี่ยนหมุนเวียน

นอกจากนี้ยังมีสวนสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

สวนสิริกิติ์

สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เกิดขึ้นตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในปี 2534 โดยมอบให้กระทรวงคมนาคมจัดสร้างบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยด้านทิศใต้ของสนามกอล์ฟรถไฟ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครบ 5 รอบ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2535 ในส่วนการหาทุนสมทบและทุนในการดูแลสวนระยะยาว มูลนิธิสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นผู้รับไปดำเนินการ โดยได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานเอกชน ต่อมาได้ส่งมอบให้กรุงเทพมหานครดูแลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2538 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539 มีพื้นที่ 196 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 04.30 - 19.00 น.

สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นสถานที่รวบรวม และอนุรักษ์พันธุ์ไม้ทั้งในและต่างประเทศเพื่อการศึกษาและสืบทอดการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช  มีการปลูกไม้แยกตามวงศ์ ทำให้มีลักษณะการเป็น “สวนพฤกษศาสตร์” ที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งในประเทศไทย จุดน่าสนใจในสวน

สวนไม้มงคลพระราชทาน 76 จังหวัด ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงพิพิธภัณฑ์เด็กฯ โดยจำลองแผนที่ประเทศไทยขนาดย่อม ไว้ในพื้นที่ 4.8 ไร่ และปลูกไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ตามตำแหน่งภูมิภาคของแต่ละจังหวัดอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง พร้อมติดป้ายแสดงชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญของต้นไม้ และชื่อจังหวัด ทางเดินชมจัดไว้เป็นเส้นทางสมมุติของถนนสายหลัก ได้แก่ ถนนพหลโยธิน ถนนมิตรภาพ ถนนสุขุมวิท ที่เชื่อมต่อระหว่างเหนือ ใต้ อิสานและตะวันออก สถานที่แห่งนี้เป็นแห่งเรียนรู้ท้งพรรณพืชและภูมิศาสตร์ได้เป็นอย่างดีในคราวเดียวกัน ซึ่งได้มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2544 โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหาคร (นายสมัคร สุนทรเวช) เป็นประธาน ทั้งได้ร่วมปลูกไม้มงคลประจำจังหวัดกรุงเทพฯ คือ ต้นไทรย้อยใบแหลม

พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร อาคารพิพิธภัณฑ์ที่จัดรูปแบบการเรียนรู้ภายใต้แนวคิด “Learning for Young Creative Mind” มีการจัดนิทรรศการ กิจกรรม ให้ความรู้และนันทนาการผ่านขบวนการเรียนรู้เพื่อเด็ก โดยคัดสรรสาระความรู้ที่เหมาะสมเพื่อบ่มเพาะจิตสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น 

อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สถานที่จัดนิทรรศการพระราชกรณียกิจต่าง ๆ

ย่านดาโอ๊ะ หรือ ต้นเถาใบสีทอง เป็นพันธุ์ไม้หายากของไทยที่ค้นพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก พบได้เฉพาะน้ำตกบาโจ ในอุทยานแห่งชาติเทือกเข้าบูโดสุไหงปาดี จ. นราธิวาส ซึ่งปลูกไว้ชมความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ นั่นคือใบที่มีขนปกคลุมคล้ายกำมะหยี่เปลี่ยนเป็นสีทองแดงเหลือบรุ้งในเดือนสิงหาคม – กันยายน และเป็นสีเงินในเดือนตุลาคม

ย่านลิเภา ไม้เถาซึ่งจัดเป็นเฟิร์นเลื้อย พบตามป่าเปิดหรือป่ากึ่งโปร่งเขตร้อน ที่มาของวัตถุดิบสำหรับศิลปหัตถกรรมงดงามเลื่องชื่อของไทย มีปลูกไว้ให้ชมเช่นกัน

สระน้ำ สร้างเป็นจุดเด่นของสวนที่สื่อความหมายการเฉลิมพระเกียรติด้วยสระน้ำคดเคี้ยวเป็นรูปอักษร “ส” และ “S” ผสานกัน สื่อถึงพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แนวขอบสระเลือกปลูกพืชพันธุ์สร้างสีสันเน้นลักษณะอักษร “ส” ให้โดดเด่นด้วยสีเหลืองของดอกราชพฤกษ์ และ “S” เน้นด้วยสีม่วงอมชมพูของดอกอินทนิลน้ำ

สวนพฤกษศาสตร์ เป็นกิจกรรมหนึ่งในอุทยานการเรียนรู้จตุจักรโดยเป็นแหล่งปลูกรวบรวมพันธุ์พืชท้องถิ่น พันธุ์ไม้ในพระนาม พันธุ์ไม้จากพระตำหนักต่าง ๆ และพันธุ์ไม้ต่างประเทศที่น่าสนใจไว้มาก นำเสนอแหล่งความรู้ให้ศึกษาในรูปเส้นทางชมธรรมชาติแวะชมตามจุดต่าง ๆ เช่น “สวนกล้วยที่รวมไว้กว่า 70 ชนิด” “ลานลั่นทม แหล่งรวมพลแห่งดอกลั่นทมหลากสี” “ลานอโศก แหล่งชุมนุมของไม้ดอกยืนต้นที่ลือชื่อถึงความสวย นุ่มนวลสะดุดตา” “ลานเข็ม อวดดอกละเอียดสีสันสดสวยตลอดปี” “ลานชบา รวมพันธุ์แปลกตามากมายไว้ให้ชม”

ลานบัว ลานพักผ่อนตกแต่งด้วยบ่อน้ำรูปดอกบัวขนาดยักษ์ เป็นที่รวมพันธุ์บัวทั้งไทยและต่างประเทศ มีกระถางโบราณเก่าแก่ประดับลานและปลูกบัวชนิดต่าง ๆ และสวนยุโรป ซึ่งอวดลานแบบสวนประดิษฐ์ ด้วยแปลงไทรทองตัดแต่งลายบัวก้านขดอันวิจิตร สร้างเส้นนำสายตาเข้าสู่ลานบัว เกิดภาพเอกลักษณ์สง่างามเป็นหนึ่งเดียว

อาคารพรรณไม้ไทย เทิดไท้ บรมราชินีนาถ จัดแสดงพรรณไม้ไทยที่มีถิ่นกำเนิดในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยและกล้วยไม้ไทยที่กำเนิดในแต่ละภาค ประกอบด้วย อาคารพรรณไม้ 3 หลัง ได้แก่ อาคารพรรณไม้ภาคกลางและภาคตะวันออก อาคารพรรณไม้ภาคใต้และภาคตะวันตก อาคารพรรณไม้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สวนไม้หอมน้อมเกล้าฯ รวบรวมพรรณไม้หอมประเภทต่าง ๆ เพื่อการศึกษาและอนุรักษ์ อีกทั้งพรรณไม้ในวรรณคดีอีกด้วย

สวนพรรณไม้อันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษํตริย์ รวบรวมพรรณไม้ที่เกี่ยวเนื่องในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

สวนพระมหากรุณาธิคุณเพื่อผู้พิการทางสายตา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสายตาได้เพลิดเพลินกับธรรมชาติพร้อมกับการเรียนรู้และสัมผัสพืชพรรณไม้หอมประเภทต่าง ๆ

สวนป่ารักน้ำ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559     

สงกรานต์พระประแดง 2568 เล่นน้ำวันไหน ปิดถนนเส้นไหนบ้าง

สงกรานต์พระประแดง 2568 เล่นน้ำวันไหน ปิดถนนเส้นไหนบ้าง

ปักหมุด! สงกรานต์พระประแดง 2568 จัดเต็ม 25–27 เม.ย. ที่สมุทรปราการ เปิดประสบการณ์สงกรานต์ไทย ปักหมุดเที่ยวส่งท้ายเดือนเมษานี้

อัปเดต วันไหล สงกรานต์ 2568 จัดวันไหน มีที่ไหนบ้าง?

อัปเดต วันไหล สงกรานต์ 2568 จัดวันไหน มีที่ไหนบ้าง?

วันไหลสงกรานต์ 2568 สนุกต่อเนื่องถึงปลายเมษา! ชลบุรีจัดเต็มเกือบทั้งเดือน ส่วนพระประแดงปิดท้ายสุดยิ่งใหญ่ รวมไฮไลต์สายบุญ-สายเล่นน้ำไว้ครบ

10 พิกัดสงกรานต์กรุงเทพ 2568 สนุกครบรส ทุกสไตล์!

10 พิกัดสงกรานต์กรุงเทพ 2568 สนุกครบรส ทุกสไตล์!

10 ที่เที่ยวสงกรานต์กรุงเทพ 2568 เล่นน้ำสงกรานต์ในกรุงเทพสุดมันส์ กิจกรรมครบทั้งสายบุญ สายปาร์ตี้ และสายวัฒนธรรม รวมจุดเช็กอินทั่วกรุงฯ ที่ห้ามพลาด

สงกรานต์สนามหลวง 2568 ปักหมุดงานใหญ่ \

สงกรานต์สนามหลวง 2568 ปักหมุดงานใหญ่ "เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์" สนุกฉ่ำ 5 วันเต็ม

สงกรานต์สนามหลวง จัดเต็ม เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2568 สงกรานต์สุดยิ่งใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ เตรียมตัวให้พร้อม ร่วมสนุก สาดน้ำ และสัมผัสวัฒนธรรมไทยแบบจัดเต็ม

สงกรานต์สีลม 2568 ปิดถนนเล่นน้ำวันไหน กี่โมง แนะนำการเดินทาง

สงกรานต์สีลม 2568 ปิดถนนเล่นน้ำวันไหน กี่โมง แนะนำการเดินทาง

สงกรานต์สีลม 2568 มาในคอนเซ็ปต์ สงกรานต์บ้านฉัน สีสัน สีลม 2568 สาดน้ำสุดมันกลางถนนสีลม 12–14 เม.ย. ตั้งแต่บ่ายโมงถึงสามทุ่ม เตรียมตัวให้พร้อมก่อนลุยเทศกาลใหญ่ใจกลางกรุง