เปิดที่มาชื่อ พระเจ้าเสือ ของหลวงสรศักดิ์ ทั้งที่ชื่อเล่นว่า เดื่อ ใน “พรหมลิขิต”
จากในละคร พรหมลิขิต พระเพทราชาเรียกหลวงสรศักดิ์ว่า "พ่อเดื่อ" แต่ทำไมคนมักเรียกกันว่า พระเจ้าเสือ
พระเจ้าเสือ เป็นตัวละครสำคัญตั้งแต่ภาคแรกใน บุพเพสันนิวาส แม้ว่าใน พรหมลิขิต จะปรากฏตัวเพียงสองตอน ทำให้นักแสดงอย่าง ก๊อต จิรายุ ออกมาโพสต์ร่ำลาหลังจากตัวละครของเขาจะต้องลาจากจอไปว่า “มาน้อยแต่มานะ” แต่เชื่อว่าแฟนละครยังคงจดจำการแสดงที่เข้าถึงบทบาททุกขณะของเขาได้ไปอีกนานอย่างแน่นอน
เปิดที่มาชื่อ พระเจ้าเสือ ของหลวงสรศักดิ์ ทั้งที่ชื่อเล่นว่า เดื่อ
อาจจะมีคนสงสัยถึงที่มาของชื่อ พระเจ้าเสือ ที่เป็นชื่อที่หลายคนเรียกจนคุ้นหู แต่ทำไมถึงเรียกว่า พระเจ้าเสือ ทั้งๆ ที่ชื่อเล่นของเขาคือ เดื่อ
หลวงสรศักดิ์ มีความเชื่อกันว่าอาจจะเป็นพระราชโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับสนมลับพระองค์หนึ่งที่คาดว่าเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเชียงใหม่ แต่พระนารายณ์ยกหลวงสรศักดิ์ให้พระเพทราชาเลี้ยงดู จนกระทั่งเมื่อสมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ หลวงสรศักดิ์ จึงได้ถูกแต่งตั้งเป็น กรมพระราชวังบวร คอยช่วยเหลือดูแลบริหารบ้านเมือง และหลังจากสมเด็จพระเพทราชาสวรรคต เขาจึงได้ขึ้นครองราชย์ต่อ เป็น สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 29 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ที่มาของชื่อ พระเจ้าเสือ สันนิษฐานกันว่า มาจากอุปนิสัยของพระองค์ที่มีความเด็ดขาด และชอบการล่าสัตว์ ผู้คนจึงเปรียบว่าทรงร้ายดั่งเสือ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีพระปรีชาด้านมวยไทย โดยทรงเป็นผู้คิดท่าแม่ไม้มวยไทย ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดเจน และได้มีการถ่ายทอดเป็นตำราให้ชาวไทยรุ่นหลังได้เรียนรู้ฝึกฝนจนถึงปัจจุบัน
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ระบุในหนังสือ ศิลปะมวยไทย ถึงพระองค์ในการปลอมพระองค์เป็นชาวบ้านมาชกมวยกับนักมวยฝีมือดีจากเมืองวิเศษชัยชาญ และสามารถชนะนักมวยเอกได้ถึง 3 คน ซึ่งได้แก่ นายกลาง หมัดตาย, นายใหญ่ หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก ปัจจุบัน กระทรวงวัฒนธรรม ได้กำหนดให้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันที่พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ตามหลักฐานในประวัติศาสตร์เป็นวันมวยไทย
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงฝึกเจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพรผู้เป็นพระราชโอรส ให้มีความสามารถในด้านมวยไทย กระบี่กระบอง และมวยปล้ำอีกด้วย