เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

“ไข้หวัดใหญ่” กับ 15 อาการอันตราย เสี่ยง “โรคแทรกซ้อน” ที่อาจคร่าชีวิตได้

“ไข้หวัดใหญ่” กับ 15 อาการอันตราย เสี่ยง “โรคแทรกซ้อน” ที่อาจคร่าชีวิตได้

ลำพังแค่โรค “ไข้หวัดใหญ่” เอง อาจไม่ได้อันตรายร้ายแรงอะไรมากนัก แต่สิ่งที่เป็นอันตรายที่เราควรระมัดระวัง และเตรียมรับมือกับมันให้ดี คือบรรดา “โรคแทรกซ้อน” ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากที่ร่างกายกำลังอ่อนแอขั้นสุด และโรคเหล่านี้อาจอันตรายต่อร่างกายจนเราอาจรับมือกับมันไม่ไหวก็เป็นได้


โรคแทรกซ้อน ของไข้หวัดใหญ่

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่เกิดจากสภาพร่างกายของผู้ป่วยก่อนเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ที่อาจมีแข็งแรงน้อยกว่าคนอื่นๆ เป็นทุนเดิม หรืออาจเกิดจากเชื้อไวรัสที่ได้รับเป็นชนิดที่อันตรายกว่าชนิดอื่นๆ


ผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนระหว่างเป็นไข้หวัดใหญ่

  • เด็กแรกเกิด เด็กเล็ก

  • ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป

  • หญิงมีครรภ์

  • ผู้ที่เคยอยู่ในระหว่างการรักษาตัวจากโรคใดโรคหนึ่งนานๆ

  • ผู้ที่ต้องคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา

  • ผู้ที่ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังทำการรักษาอยู่ เช่น เบาหวาน โรคทางกล้ามเนื้อประสาท โรคที่เกี่ยวกับปอด และหัวใจ

  • โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเป็นไข้หวัดใหญ่

    ระบบทางเดินหายใจ

    • ปอดบวม

    • ท่อลม และหลอดอักเสบ

    หัวใจ

    • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

    • เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

    กล้ามเนื้อ

    • กล้ามเนื้อลายอักเสบ

    • กล้ามเนื้อลายสลาย

    สมอง

    • สมองอักเสบ

    • อัมพาตเฉียบพลัน


    อาการ-สัญญาณเตือนโรคแทรกซ้อน จากไข้หวัดใหญ่

    นอกจากมีไข้ ตัวร้อน ปวด มึนศีรษะ ไอ เจ็บคอ เหมือนไข้หวัดทั่วไปแล้ว หากมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ให้สงสัยว่า อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้

  • หายใจเร็ว

  • หายใจลำบาก

  • แน่นหน้าอก

  • ซึม

  • ชัก

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง

  • ไอเป็นเลือด

  • เรียกแล้วไม่ตื่น ไม่รู้สึกตัว

  • อาการไข้ไม่ดีขึ้นเลยหลังผ่านไป 3 วัน

  • อาการไข้ทุเลา แต่กลับมามีไข้สูงอีก และมีอาการต่างๆ รุนแรงกว่าเดิม

  • รับประทานอาหารไม่ได้ หรือน้อยลงมาก

  • ดื่มน้ำน้อยมาก

  • ผิวเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้น

  • มีไข้ และมีผดผื่นขึ้นร่วมด้วย

  • มีอาการแพ้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

  • หากเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ๋ แล้วมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาอย่างละเอียด ไม่ควรซื้อยาทานเอง เพราะอาจไม่สามารถรักษาโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด อาจเสียเงิน เสียเวลาโดยใช่เหตุ และที่สำคัญ อาจเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตมากกว่าเดิมโดยไม่รู้ตัว ที่สำคัญ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้