เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

“กินเผ็ด” มากเกินไปก็อันตราย ต้องเผ็ดแค่ไหนถึงจะดี?

“กินเผ็ด” มากเกินไปก็อันตราย ต้องเผ็ดแค่ไหนถึงจะดี?

รสเผ็ด เป็นรสที่ช่วยเพิ่มความอร่อยให้กับอาหาร ข้อดีที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ รสเผ็ดช่วยให้เราเจริญอาหาร อีกทั้งยังช่วยหายใจได้โล่งจมูกขึ้น ละลายเสมหะ และยังช่วยลดน้ำหนักได้อีกด้วย (>> 20 ข้อดีของพริก นอกจากจะ "เผ็ด" สะใจแล้ว ยังดีต่อสุขภาพด้วย) แต่ก็ใช่ว่าเราจะตักพริกเติมเอาๆ กินเผ็ดได้มากเท่าที่ใจอยาก เพราะหากกินเผ็ดมากเกินไปก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นกัน


อันตรายจากการ “กินเผ็ด”

รสเผ็ดจากพริกทำให้รู้สึกแสบร้อนได้ตั้งแต่ลิ้นไปจนถึงกระเพาะอาหาร ดังนั้นการรับประทานอาหารที่ใส่พริกมาก มีรสเผ็ดมากๆ อาจทำให้กระเพาะอาหาร รวมถึงระบบทางเดินอาหารอื่นๆ ระคายเคืองได้

อ.พญ. ศุภมาส เชิญอักษร แพทย์สาขาวิชาโรคทางเดินอาหาร และตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สารแคปไซซินในพริกทำให้เกิดอาการแสบร้อน และทำให้ระคายเคืองต่อเยื่อบุต่างๆ ในร่างกาย


กินเผ็ด ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร?

โรคกระเพาะอาหารเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุหลักเกิดจากการรับประทานยาบางชนิดที่ทำให้การป้องกันของเยื่อบุในทางเดินอาหาร หรือกระเพาะอาหารเสียไป อีกส่วนหนึ่งคือการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การรับประทานอาหารรสเผ็ดเป็นเพียงปัจจัยที่ทำให้กระเพาะอาหารเกิดการระคายเคือง จึงอาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนท้องได้ โดยเฉพาะคนที่มีอาการของโรคกระเพาะอาหารอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้รู้สึกแสบท้องได้มากขึ้น


กินเผ็ดเท่าไรถึงจะดี?

ควรปรุงรสรสชาติเผ็ดให้อยู่ในระดับที่พอดี ไม่เผ็ดมากจนเกินไป หากรับประทานพริก หรือเครื่องปรุงอื่นๆ ที่มีรสเผ็ดแล้วรู้สึกทรมาน แสบปาก แสบท้อง ควรหยุดทานแล้วดื่มน้ำตามเพื่อลดอาการระคายเคืองจากพริกที่อาจเกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร และกระเพาะอาหารได้

หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ ท้องเสียท้องร่วง อาหารเป็นพิษ ฯลฯ ไม่ควรกินเผ็ด เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง รวมถึงผู้ป่วยที่มีไข้ เพิ่งผ่าตัด ควรงดการรับประทานอาหารเผ็ดชั่วคราวด้วย


วิธีรับประทานอาหารที่ช่วยถนอมรักษากระเพาะอาหาร

  • ไม่กินเยอะเกินไป

  • ไม่กินอาหารมันมากเกินไป มีส่วนในการเกิดโรคกระเพาะอาหารได้

  • กินอาหารที่มีกากใยอาหารที่เหมาะสม ใครที่ไม่ค่อยได้กินผักผลไม้ที่มีกากใยอาหาร ให้ค่อยๆ เพิ่มปริมาณในการกิยในแต่ละมื้อ แต่ละวันทีละน้อยๆ ให้กระเพาะอาหารค่อยๆ ปรับตัว

  • ดื่มน้ำในปริมาณที่มากพอ (>> ดื่มน้ำวันละ 8 แก้วก็เพียงต่อร่างกายแล้วจริงหรือ)

  • รับประทานอาหารให้ตรงเวลา