เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

รู้จัก “คอเลสเตอรอล” ไขมันที่ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคอ้วน-หัวใจเพียงอย่างเดียว

รู้จัก “คอเลสเตอรอล” ไขมันที่ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคอ้วน-หัวใจเพียงอย่างเดียว

คอเลสเตอรอลที่เราพูดถึงกันโดยทั่วไป อาจคิดว่าเป็นไขมันในเลือดที่หมอทักอยู่บ่อย ๆ เวลาไปตรวจสุขภาพว่าอย่าให้เกิน 200 mg/dL จริง ๆ แล้วคอเลสเตอรอลที่ว่า คือคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี ที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ โรคอ้วน หลอดเลือดหัวใจตีบ ฯลฯ แต่ยังคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีต่อร่างกายที่เราควรเพิ่มปริมาณเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย


คอเลสเตอรอล ร่างกายสร้างเองมากถึง 80% ?

คร่าวๆ คือ คอเลสเตอรอลเป็นไขมันที่พบได้ในเลือด หลอดเลือด และเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย เชื่อหรือไม่ว่ากว่า 80% ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นมาเอง ที่เหลืออีกเกือบ 20% มาจากอาหารการกินที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวัน

สาเหตุที่ตับ และลำไส้ต้องผลิตคอเลสเตอรอลขึ้นมาเอง เพราะร่างกายใช้คอเลสเตอรอลในการทำงานให้กับส่วนต่าง ๆ ทั้งช่วยสร้างวิตามินดี ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศชาย และเพศหญิง) และช่วยสร้างน้ำดีที่ช่วยย่อย และดูดซึมไขมันในลำไส้เล็กอีกด้วย

ตัวอย่างง่าย ๆ หากเราต้องการคอเลสเตอรอลเพื่อมาใช้งานในร่างกาย เราอาจได้มาจากการกินไข่แดง 1 ฟอง (คอเลสเตอรอลราว 200 มิลลิกรัม) และจากที่ร่างกายผลิตเองอีก 800 มิลลิกรัม นั่นหมายความว่า หากเรารับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลมากเกินความจำเป็น จะทำให้มีปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด และตามร่างกายส่วนต่าง ๆ มากเกินไปนั่นเอง


ไขมันในเลือด ไม่ได้แย่เสมอไป

ไขมันในเลือด มีทั้งแบบที่ละลายในน้ำได้และละลายในน้ำไม่ได้ เพื่อการลำเลียงไขมันไปตามหลอดเลือดได้สะดวกขึ้น ไขมันจึงรวมตัวกับโปรตีน เป็น “ไลโปโปรตีน” (Lipoprotein) ซึ่งจะทำหน้าที่ขนส่งไขมันให้เคลื่อนไปในกระแสเลือดและอวัยวะต่างๆในร่างกาย ไลโปโปรตีน มี 4 ชนิด โดยแบ่งตามความหนาแน่น ดังนี้”

  • ไคโลไมครอน (Chylomicron) เป็นไขมันที่พบในเลือดหลังจากที่รับประทานอาหารที่มีไขมันมาก ประกอบด้วย ไตรกลีเซอไรด์ ร้อยละ 84 ปกติจะไม่พบ ไคโลไมครอน ในเลือดหลัง จากอดอาหารเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ไคโลไมครอนถูกสร้างที่เยื่อบุลำไส้เล็ก ทำหน้าที่ขนส่งไตรกลีเซอไรด์ที่ได้จากอาหาร นำไปสะสมไว้ในเนื้อเยื่อไขมัน

  • วี แอล ดี แอล (VLDL ,Very Low Density Lipoprotein) ร่างกายสร้างขึ้นจากตับและลำไส้เล็ก(เป็นส่วนน้อย) ประกอบด้วยไตรกลีเซอไรด์ ร้อยละ 51 ทำหน้าที่ขนส่งไตรกลีเซอไรด์ที่ร่างกายสร้างขึ้นจากตับไปยังผนังหลอดเลือด เนื้อเยื่อไขมันและกล้ามเนื้อ

  • แอล ดี แอล (LDL, Low Density Lipoprotein) มีส่วนประกอบของคอเลสเตอรอล ในปริมาณสูงถึงร้อยละ 45 ร่างกายสร้าง LDL จากการเผาผลาญ VLDL ทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอล จากตับไปยังผนังหลอดเลือด เนื้อเยื่อไขมัน และกล้ามเนื้อ ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น ถ้าสูงเป็นระยะเวลานาน จะเกิดการคั่งและเกาะตามหลอดเลือดทำให้เกิดการอุดตันได้ จึงจัดเป็นไขมันชนิดร้าย

  • เอช ดี แอล (HDL, High Density Lipoprotein) ร่างกายสร้างจากตับและลำไส้ ทำหน้าที่ขนส่ง คอเลสเตอรอล จากเซลล์อื่นๆ ไปยังตับเพื่อเผาผลาญเป็นน้ำดี หรือนำไปให้ตับสร้าง LDL ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดต่ำลง จัดเป็นไขมันชนิดดี

  • เพิ่มคอเลสเตอรอลที่ดีให้กับร่างกายได้อย่างไร ?

    ในเมื่อคอเลสเตอรอลที่ดีที่จะช่วยทำให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีลดต่ำลง เราจึงควรเพิ่มคอเลสเตอรอลที่ดีให้กับร่างกายได้ ดังนี้

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นจังหวะ เช่น แอโรบิก ปั่นจักรยาน วิ่ง รวมถึงการยกน้ำหนัก

  • กินอาหารที่มีไขมันดีสูง เช่น ปลาทะเล น้ำมันมะกอก ฯลฯ

  • ลดความเสี่ยงที่ทำให้คอเลสเตอรอลชนิดเลวเพิ่มมากขึ้น เช่น ลดน้ำหนัก ลดอาหารที่มีไขมันเลวสูง เช่น น้ำมันหมู เบเกอรี่ เนยเทียม ฯลฯ 

  • งดพฤติกรรมที่ทำลายไขมันดีในร่างกายให้ลดลง เช่น สูบบุหรี่

  • พักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ
  • >> "ไขมันดี" คอเลสเตอรอล HDL สำคัญขนาดไหน? และเราจะเพิ่มมันได้อย่างไร?

    >> 6 อาหารไขมัน (ดี) ที่คุณต้องทาน ลดเสี่ยงโรคหัวใจ-ไขมันอุดตันเส้นเลือด