เนื้อหาในหมวด การเงิน

สรุปเหตุการณ์แวดวงเศรษฐกิจที่น่าสนใจในปี 2017

สรุปเหตุการณ์แวดวงเศรษฐกิจที่น่าสนใจในปี 2017

ในรอบปีที่ผ่านมา ข่าวคราวแวดวงเศรษฐกิจมีเรื่องให้น่าติดตามมากมาย มาดูกันว่าในปี 2017 ที่กำลังผ่านพ้นไป มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

  • ปรากฏการณ์ ‘ตื่น Bitcoin’

bitcoin

เมื่อถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่าคงมีน้อยคนที่จะไม่รู้จักบิตคอยน์ เพราะเวลานี้สกุลเงินดิจิทัลชื่อดังได้กลายเป็นที่รู้จักผ่านสื่อกระแสหลักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในปี 2017 นับได้ว่าเป็นปีแห่งบิตคอยน์อย่างแท้จริง เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม 2017 ราคาต่อหนึ่งบิตคอยน์ยังมีมูลค่าเพียงแค่ 997 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ก่อนที่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2017 ราคาของบิตคอยน์จะพุ่งขึ้นสูงเกินหนึ่งหมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งบิตคอยน์

เมื่อบิตคอยน์กลายเป็นกระแสหลักที่ ‘ใครๆ’ ต่างก็พูดถึง จึงนำมาสู่คนทั่วไปที่หวังอยากร่ำอยากรวยด้วยบิตคอยน์ ซึ่งแน่นอนว่า เรื่องความร่ำ-ความรวย ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนทะเยอทะยานอยากได้อยากมี แต่ถึงกระนั้นต้องไม่ลืมที่จะตรวจสอบความเสี่ยงของตัวเองด้วยว่า จะสามารถรับความผันผวนของบิตคอยน์ได้ดีแค่ไหน

อ่านเพิ่มเติม: 'Bitcoin' มีโอกาสเกิดฟองสบู่หรือไม่?

  • การเจรจา Brexit ระหว่างอียูและสหราชอาณาจักร

brexit

ในปี 2017 ที่ผ่านมา ประเด็น ‘Brexit’ หรือการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างยิ่ง โดยในเวลานี้การเจรจาขั้นต้นดูเหมือนจะลุล่วงไปแล้ว เช่น ข้อตกลงสิทธิพลเมืองของอียูในสหราชอาณาจักร หรือกล่าวให้เข้าใจอย่างง่าย นั่นคือ พลเมืองอียูในสหราชอาณาจักร ยังคงสามารถอาศัยอยู่ได้ตามปกตินั่นเอง

แต่ถึงกระนั้นกว่าที่การเจรจาจะสำเร็จเสร็จสิ้นก็ยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี  (ในระหว่างที่กำลังเขียนบทความชิ้นนี้ มีการประเมินว่า การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรอย่างเสร็จสมบูรณ์อาจล่วงไปถึงปี 2020) เพราะยังมีเรื่องที่ต้องหารืออีกเยอะมาก เช่น ข้อตกลงด้านการเงิน ไปจนถึงประเทศที่อยู่ในสหราชอาณาจักรอย่างสกอตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ และเวลส์ จะตัดสินใจอย่างไรอีกด้วย

  • สี จิ้นผิง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนสมัยที่ 2

xi

เมื่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ลงมติเอกฉันท์แต่งตั้งนายสี จิ้นผิง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง ก็อาจเป็นเรื่องทั่วๆ ไปของคนที่ไม่ได้ติดตามแวดวงเศรษฐกิจ แต่การที่นายสี จิ้นผิง ได้นั่งบนเก้าอี้ตัวเดิมอีกครั้ง ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ เนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองของนายสี กลายเป็นสิ่งที่สร้างคุณลักษณะใหม่ๆ ให้กับการเมืองในประเทศจีนอย่างมาก

พร้อมกันนี้การที่นายสี จิ้นผิง ดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง จะส่งผลในการสร้างความต่อเนื่องของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่นายสี ถือเป็นวาระเร่งด่วน การเพิ่มเสรีภาพทางการเงิน นอกเหนือจากนี้ยังมีการปรับให้โครงสร้างธุรกิจในจีนที่ถือหุ้นโดยรัฐมีความคล่องตัว และมีลักษณะการทำงานที่กระฉับกระเฉงขึ้น ไปจนถึงการสนับสนุนให้ธุรกิจที่อยู่ในจีนแผ่ขยายกลายเป็นมังกรสยายปีก โดยเฉพาะบริษัทชั้นนำอย่าง อาลีบาบา และเทนเซ็นต์ เป็นต้น

ที่สำคัญก็คือ นโยบายของนายสี คือ ต้องการเน้นให้เศรษฐกิจจีนเติบโตแบบมีคุณภาพ แทนที่จะเติบโตแบบฉาบฉวยเหมือนที่ผ่านมา เพื่อให้มีการเติบโตแบบยั่งยืนในที่สุด

  • Disney ซื้อ ‘Fox’ ซูเปอร์ดีลปิดท้ายปี 2017

disney

ที่ผ่านมา ทเวนตี้ เฟิร์สต์ เซนจูรี่ ฟ็อกซ์ มีแนวความคิดที่จะ ‘exit’ หรือถอนตัวจากธุรกิจบันเทิง อันเนื่องมาจากการโดน ‘Disrupt’ อย่างรุนแรง โดยเฉพาะการถือกำเนิดของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ที่เข้ามาทำลายโครงสร้างของระบบความบันเทิงรูปแบบเดิม

ด้วยเหตุนั้น ฟ็อกซ์จึงมีความคิดที่จะเริ่มขายกิจการของตัวเองออกไป กระทั่งดิสนีย์ให้ความสนใจซื้อกิจการในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามก็ต้องมาดูกันอีกหนึ่งยกครับว่า ท้ายที่สุดแล้วหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น Regulator หรือหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้อง จะเปิดไฟเขียวให้การซื้อขายนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการหรือไม่อีกครั้งหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม: เปิดอาณาจักรธุรกิจ 'Disney' ผู้ยิ่งใหญ่ความบันเทิงในศตวรรษที่ 21

  • ทีวีดิจิทัลและสื่อสิ่งพิมพ์ไทยฟุบ

doodee-sticker

ปิดท้ายกันด้วยเรื่องของธุรกิจสื่อ ทั้งทีวีดิจิทัลและสื่อประเภทหนังสือที่ตั้งแต่ต้นปี ก็เริ่มทยอยปิดตัวลง โดยเฉพาะข่าวการปิดตัวหนังสือที่อยู่คู่แผงหนังสือไทยมานานอย่าง ‘คู่สร้างคู่สม’  ก็จะวางแผงฉบับสุดท้ายในเดือนธันวาคม 2560

ขณะเดียวกันสื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะทีวีดิจิทัลที่นับตั้งแต่ตั้งไข่ จนถึงปัจจุบันสถานการณ์ก็มีแต่ทรงกับทรุด สังเกตได้จากเจ้าของใบอนุญาตทีวีดิจิทัลแต่ละรายต่างล้วนอยู่ในสถานะแสนสาหัสกันทั้งนั้น ไล่ตั้งแต่ช่อง 3 ที่เป็นเจ้าของทีวีดิจิทัลถึง 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 HD, ช่อง 3SD (ช่อง 28) และช่อง 3 Family (ช่อง 13) ตามด้วยการลดจำนวนพนักงาน และการขายช่อง Now 26 ของเครือเนชั่น ไปจนถึงช่องบันเทิงในเครือแกรมมี่ ที่มีช่อง One 31 และ GMM 25 ที่ในท้ายที่สุดต้องขายสัดส่วนการถือครองหุ้นให้กับกลุ่มทุนที่มีเงินถุงเงินถัง

นอกเหนือจากนี้ ช่องข่าวอย่าง Voice TV ก็ดูเหมือนว่า จะถอดใจกับการทำทีวีดิจิทัล แล้วหันมาทำข่าวในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งมีต้นทุนน้อยกว่า แต่ในบรรดาผู้ประกอบการด้านสื่อที่ดูเหมือนจะมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ก็คงเป็นเครืออาร์เอส ภายหลังประกาศถอยฉากการทำธุรกิจสื่อ แล้วหันไปทุ่มสรรพกำลังให้กับอุตสาหกรรมใหม่อย่าง ธุรกิจสุขภาพและความงาม

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า ธุรกิจสื่อกำลังอยู่ในภาวะ ‘เสือลำบาก’ และไม่แน่ว่าในปี 2018 ที่จะเริ่มต้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงให้เราได้เห็นอีกก็เป็นได้

โฮมโปร แจงกรณีถูกละเมิดข้อมูลเป็นข้อมูลพื้นฐาน ไม่มีข้อมูลธุรกรรม

โฮมโปร แจงกรณีถูกละเมิดข้อมูลเป็นข้อมูลพื้นฐาน ไม่มีข้อมูลธุรกรรม

โฮมโปร แจงกรณีถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ยันเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐาน-ไม่มีข้อมูลอ่อนไหว-ไม่มีข้อมูลธุรกรรม พร้อมยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด

SCB WEALTH มองภาษีทรัมป์ ฉุด GDP โลกโตเหลือ 2.2% แนะพักหุ้น ถือตราสารหนี้-ทองคำ

SCB WEALTH มองภาษีทรัมป์ ฉุด GDP โลกโตเหลือ 2.2% แนะพักหุ้น ถือตราสารหนี้-ทองคำ

SCB WEALTH มองภาษีทรัมป์กดดัน GDP โลกโตเหลือ 2.2% ส่วนไทยโต 1.4-1.5% แนะลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น-กลาง กองทุนผสม และทองคำ เลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยงชั่วคราว

เนสท์เล่ ร่อนแถลงห่วงผู้ประกอบการรายย่อย หลังศาลสั่งห้ามผลิต-ขาย เนสกาแฟ

เนสท์เล่ ร่อนแถลงห่วงผู้ประกอบการรายย่อย หลังศาลสั่งห้ามผลิต-ขาย เนสกาแฟ

เนสท์เล่ ร่อนจดหมาย ห่วงใยผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ หลังศาลสั่งห้ามผลิต-ขาย แบรนด์ Nescafé ในประเทศไทย

SCB FM มอง ค่าเงินบาทไทย อาจอ่อนค่าในระยะสั้น จากสหรัฐฯ ประกาศ Reciprocal tariffs

SCB FM มอง ค่าเงินบาทไทย อาจอ่อนค่าในระยะสั้น จากสหรัฐฯ ประกาศ Reciprocal tariffs

SCB FM มองเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อได้อีกไม่มากในระยะสั้น แม้สหรัฐฯ จะประกาศ Reciprocal tariffs แต่ปลายปียังไม่แน่นอนสูง บาทอาจอ่อนต่อ