นโยบายเซอร์ไพรส์ "พปชร." อาจติดกับดัก นักวิชาการห่วงเศรษฐกิจไทยคล้ายวิกฤตกรีซ
กลายเป็นที่ฮือฮาในพริบตา เมื่อ “พรรคพลังประชารัฐ” อัดบิ๊กเซอร์ไพรส์ โดยชูนโยบายผลักดันค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท ปริญญาตรีจบใหม่เงินเดือน 20,000 บาทต่อเดือน อาชีวะเงินเดือน 18,000 บาทต่อเดือน เด็กจบใหม่ยกเว้นภาษี 5 ปี เสนอยกเว้นภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 2 ปี และลดภาษี 10% บุคคลธรรมดา
จนนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ จัดหนักซัดกลับนโยบายพรรคพลังประชารัฐว่าการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และมีแววที่จะเป็นแบบเดียวกับวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศเวเนซุเอลา
กระแสดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังเป็นแค่นโยบายหาเสียงเพื่อดึงคะแนนจากคนไทยทั้งประเทศมากกว่า แต่หากเกิดขึ้นจริงกับไทยจะเป็นอย่างไร? Sanook! Money ได้พูดคุยถึงความเป็นไปได้ถึงนโยบายดังกล่าวกับนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และรวบรวมความคิดเห็นของนักวิชาการต่างๆ มาฝากกัน
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นจะต้องเป็นไปตามกลไกของไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล) ซึ่งการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำจะต้องศึกษาก่อนว่าสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานดำรงชีพได้อย่างมีคุณภาพ
ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตของกลุ่มคนที่ใช้แรงงาน ดังนั้นจะต้องมีการปรับขึ้นแต่จะปรับขึ้นเป็นเท่าไหร่ ควรต้องให้เป็นไปตามกลไกไตรภาคี
สำหรับเงินเดือนเริ่มต้นของอาชีวศึกษา 18,000 บาทต่อเดือน และปริญญาตรีจบใหม่ 20,000 บาทต่อเดือน นายอนุสรณ์ กล่าวว่าสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนราชการ และเอกชน ซึ่งในส่วนของราชการอาจจะนำไปกำกับใช้ได้ โดยการปรับขึ้นเงินเดือนในส่วนของข้าราชการ และพนักงานของรัฐจะต้องใช้งบประมาณในส่วนของเงินเดือนด้วย
ที่สำคัญจะต้องปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานของรัฐคนเก่าด้วย และอาจมีการเพิ่มค่าประสบการณ์ทำงานเพิ่มเข้าไปด้วย ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลเสียต่อระบบบริหารงานบุคคลในอนาคต
ในส่วนของเอกชนนั้น นโยบายดังกล่าวไม่สามารถบังคับใช้ในกลุ่มนี้ได้ ซึ่งก็จะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกอุปสงค์และอุปทานตลาดแรงงานมากกว่า เพราะหากค่าจ้างสูงเกินไปเอกชนก็แบกรับไม่ไหวเช่นกัน
ส่วนกรณีที่นายมิ่งขวัญกังวลถึงนโยบายดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ จนนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจแบบประเทศเวเนซุเอลานั้น นายอนุสรณ์มองว่าระบบเศรษฐกิจไทยอาจจะไม่ร้ายแรงถึงขั้นนั้น เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อของประเทศเวเนซุเอลาเกิดจากนโยบายประชานิยมที่ผิดพลาด โดยไม่มีการจำกัดขอบเขตวินัยการเงินการคลัง ซึ่งนโยบายประชานิยมก็มีทั้งที่ดีและไม่ดี
ดังนั้นไม่ควรที่จะทำอะไรฝืนความเป็นจริงจะดีที่สุด หากพรรคการเมืองแทบทุกพรรคแข่งกันหาเสียงโดยชูนโยบายในลักษณะดังกล่าวโดยไม่ยั้งคิด ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างประเทศกรีซ หรือกลุ่มยุโรป
อย่างไรก็ตาม นายอนุสรณ์ ระบุว่า สิ่งที่พรรคพลังประชารัฐ ดำเนินการอยู่อาจจะติดกับดักเอง เนื่องจากที่ผ่านมารัฐวางกลไก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังเอาไว้
ด้านนายสุหฤท สยามวาลา ดีเจ นักธุรกิจ และอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟสบุ๊กถึงนโยบายดังกล่าวของพรรคพลังประชารัฐว่า
"เมื่อคิดอะไรไม่ออก ก็เอาง่ายๆ แบบนี้เร็วดี แต่ไม่บอกผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ตามที่ผมคิดนะ ผมเสนอว่า
เมื่อพรรคที่หมดปัญญาคิดความเจริญระยะยาว เขาก็คิดประชานิยมห่วยๆ หลอกให้กาเสียงร่ำไป ชีวิตเราเองจะห่วยแตกแบบนโยบายพวกนี้ไม่วันใดก็วันนึง ห่วยมากๆ คิดอะไรกันอยู่ ให้ชีวิตคนแบบมีพื้นฐานที่แน่นหนาไม่ได้หรือไง
ถ้าคุณชอบนโยบายฉาบฉวยแบบต้องใช้กรรมทีหลังก็เชิญนะ ขี้เกียจเถียง สำหรับผม ขอลาก่อนพรรคนี้ ไร้ความสร้างสรรค์สิ้นดี
สุหฤท สยามชอบรัฐสวัสดิการแบบไร้ทุจริตเกลียดประชานิยมโง่ๆ ถลุงเงินง่ายๆ"